3 ขั้นตอนตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

3 ขั้นตอนตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นภัยร้ายเงียบที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย  การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อและเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดได้

ขั้นที่ 1 ตรวจในขณะอาบน้ำ

ใช้นิ้วมือวางราบบนเต้านม คลำและเคลื่อนนิ้วมือในลักษณะคลึงเบาๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านมทีละข้าง เพื่อค้นหาก้อนหรือเนื้อที่แข็งเป็นไตผิดปกติ

ขั้นที่ 2 ตรวจหน้ากระจก

ก. ยืนตรงมือแนบลำตัว แล้วยกแขนขึ้นสูงเหนือศรีษะ สังเกตลักษณะของเต้านมทั้งสองข้าง การเคลื่อนยกแขนขึ้นนั้นสามารถมองเห็นความผิดปกติได้ง่ายข. ยกมือเท้าเอว เอามือกดสะโพกแรงๆ เพื่อไม่เกิดการเกร็ง และหดตัวของกล้ามเนื้ออก แล้วสังเกตดูลักษณะผิดปกติ

ขั้นที่ 3 การตรวจในท่านอน

นอนราบยกมือข้างหนึ่งไว้ใต้ศรีษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านมทีละข้าง การตรวจเริ่มจากบริเวณส่วนนอก และเหนือสุดของเต้านม (จาก X ในภาพ) เวียนไปโดยรอบเต้านมเคลื่อนมือเข้ามาเป็นวงแคบๆ เข้าจนถึงบริเวณเต้านม พยายามตรวจให้ทั่วทุกส่วน  แล้วค่อยๆ บีบหัวนมเบาๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้เพื่อสังเกตดูว่ามีสิ่งผิดปกติ ซึ่งจะไหลออกมาหรือไม่  

บริเวณที่พบอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมบ่อยที่สุด

บริเวณส่วนบนด้านนอกของเต้านม ฉะนั้นจึงควรให้ความสนใจในการตรวจบริเวณดังกล่าวเป็นพิเศษ ควรคลำบริเวณใต้รักแร้ และเหนือกระดูกไหปลาร้าทั้งสองข้างด้วยว่ามีก้อนต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่

วิธีการดูแลเต้านม

  1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละ 1 ครั้งหลังหมดประจำเดือน ประมาณ 1 สัปดาห์
  2. การตรวจเต้านม โดยแพทย์ปี ละครั้ง
  3. การตรวจเต้านม โดยแมมโมแกรม และอัลตราซาวนด์ ปี ละ 1 ครั้ง เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเพื่อป้องกันและตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรกในผู้หญิงไทย แนะนำให้ทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง ในวันที่ 7-10 หลังมีประจำเดือน ถ้าไม่แน่ใจในการตรวจหรือสงสัยว่าจะมีความผิดปกติใด ๆ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

สิ่งผิดปกติที่จะต้องรีบปรึกษาแพทย์

  1. พบก้อนหรือเนื้อที่เป็นไตแข็งผิดปกติ
  2. มีน้ำเหลือง หรือเลือดไหลจากหัวนม
  3. ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม
  4. หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ
  5. เต้านมทั้งสองข้างไม่อยู่ในระดับเดียวกัน
  6. ขนาด และรูปร่างของเต้านมต่างกันอย่างผิดปกติ

ถ้าพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อการวินิฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว

 

ศูนย์เต้านม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร :052 089 888 หรือ 1719