มะเร็งเต้านม - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเพศหญิง จากข้อมูลสถิติในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในช่วงชีวิตจนถึงอายุ 80 ปี สตรีแต่ละคน มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 1 ใน 8 โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า ซึ่งสามารถพบโรคมะเร็งเต้านมได้ทุกช่วงอายุ แต่อย่างไรก็ตามโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้นมากเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป มะเร็งเต้านมมีหลายระยะเริ่มตั้งแต่ระยะที่ยังไม่ลุกลาม หรือที่เรียกว่า ระยะ 0 จนถึงระยะที่มีการแพร่กระจายซึ่งก็คือ ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย การรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้โดยการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา และการใช้ยา ซึ่งประกอบไปด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน ยามุ่งเป้า และยาเคมีบำบัด ซึ่งการรักษาแต่ละวิธี จะขึ้นอยู่กับระยะ และชนิดของมะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านมนั้น มีหลักการการรักษาเช่นเดียวกับการรักษามะเร็งอื่นๆ คือ ในระยะแรก สามารถรักษาให้หายด้วยการผ่าตัด ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว ยังช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้อีกด้วย

มะเร็งเต้านมมีหลายประเภท แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือชนิด ductal carcinoma ซึ่งเป็นมะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากต่อมที่สร้างน้ำนม ชนิดอื่นๆซึ่งพบได้น้อยกว่า ได้แก่ lobular carcinoma, Medullary, Tubular, Papillary และประเภทของมะเร็งเต้านมยังแบ่งได้ตามตัวรับ ซึ่งได้แก่ มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน มะเร็งที่มีตัวรับ Her-2 และมะเร็งเต้านมที่ไม่มีตัวรับทั้ง 2 ชนิด

 

ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง การตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญ และเมื่อพิจารณาข้อมูลทางสถิติพบว่า แม้ว่าจะมีการตรวจพบมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นทุกปีแต่กลับพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมกลับลดต่ำลง เนื่องจากผู้ป่วยสูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์เป็นมะเร็งระยะที่ยังไม่ลุกลาม หรือมะเร็งระยะที่ 0 ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเป็นผลการรณรงค์การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการทางรังสี ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงมีความสำคัญมากในการช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในประชากรทั่วไปควรเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สำหรับุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติมะเร็งเต้านมและมะเร็งทางนรีเวชชัดเจน หรือมีเชื้อสายชาวยิวอัชเคนาซิ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเริ่มตรวจคัดกรองเร็วขึ้น หรือตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติม

 

การรักษามะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านม มีหลายวิธี ประกอบไปด้วย

  1. การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักสำหรับระยะเริ่มแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หายขาด แต่ในบางครั้ง แม้จะมีการลุกลามแล้ว การผ่าตัดยังสามารถใช้เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ด้วย
  2. การฉายรังสีรักษา เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์ของก้อนเนื้อที่ต้องการทำลาย รังสีรักษาสามารถถูกนำไปใข้ได้ทุกระยะของมะเร็งเต้านม เช่น ในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายการใช้รักษีรักษาสามารถช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกเพื่อให้สามาถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือใช้หลังการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ ส่วนในระยะที่มีการแพร่กระจายแล้ว การใช้รังสีรักษาสามารถช่วยบรรเทาอาการจากโรคมะเร็ง เช่น อาการปวด หรือเลือดออกจากก้อนมะเร็ง
  3. การรักษาด้วยยา การใช้ยารักษามะเร็งเต้านม มีความหลากหลาย ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน และยามุ่งเป้า การเลือกใช้ยาประเภทใดนั้น จะขึ้นอยู่กับ ระยะของโรค และประเภทของมะเร็เต้านมว่ามีตัวรับชนิดใดอยู่บ้าง โดย ยาต้านฮอร์โมน จะใช้ในมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน และ ยามุ่งเป้า จะใข้ในมะเร็งเต้านมที่มีความผิดปกติของยีนที่เฉพาะเจาะจงกับยามุ่งเป้า ในมะเร็งระยะแรกนั้น การรักษาด้วยยามีจุดประสงค์เพื่อให้สามาถลดขนาดก้อนให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือใช้หลังผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด และกรณีที่มีการลุกลามของโรค การใช้ยาสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น

 

วิธีรับมือกับมะเร็งเต้านม

เนื่องจากการรักษาแต่ละวิธีต่างก็มีผลข้างเคียง ดังนั้นท่านควรปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันและลดอาการจากผลข้างเคียงต่าง ข้อควรปฏิบัติตัวทั่วไป ได้แก่ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สุก และสะอาด การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บุคคลอื่นที่สงสัยว่ามีอาการไม่สบาย เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ได้แก่ การเกิดพังผืดบริเวณรอยแผลผ่าตัด อาการบวมที่แขน สามารถป้องกันได้โดยการบริหารเพื่อยืดเหยียดและกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง รวมถึงการพันรอบแขนเพื่อลดอาการบวม

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษา ได้แก่ อาการแสบร้อนบริเวณที่ได้รับรังสี ซึ่งบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น หรือทาโลชั่นหลังการฉายรังสีรักษาเสร็จสิ้น

ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ได้แก่ การกดไขกระดูก ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลง อาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง ปวดเมื่อยตามร่างกาย และชาปลายมือปลายเท้าเป็นต้น ผลข้างเคียงบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยยา เช่น การให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาวต่ำเกินไป การใช้ยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาลดอาการถ่ายเหลว เป็นต้น

 

ด้วยความปรารถนาดี

ศูนย์เต้านม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร . 052 089 888 หรือ Call Center 1719