โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

เป็นสาเหตุการตายอันดับสามรองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ สาเหตุทำให้เกิดความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาตและเสียชีวิตตามมา โดยทุก ๆ 3 นาทีจะพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน และมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากประชากรไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ส่งผลให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงและเนื้อเยื่อในสมองตาย

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

  1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) พบได้ร้อยละ 80 เกิดจากไขมันเกาะบริเวณหลอดเลือดสมองหรือลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสมอง
  2. โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) พบได้ร้อยละ 20 เกิดจากความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดโป่งพองในสมอง

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack; TIA) มีอาการคล้ายผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่อาการกลับเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมงโดยที่เอ็กซเรย์สมองแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

ขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด มักมีอาการทันทีทันใด มีตัวย่ออาการที่จำได้ง่ายด้วยคำว่า "FAST"

  1. Face อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
  2. Arm อาการอ่อนแรงแขนหรือขาครึ่งซีก
  3. Speech อาการพูดไม่ชัด ไม่เข้าใจภาษา
  4. Time ให้รีบมายังโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะ เดินเซ ทันทีทันใด, ตามองเห็นไม่ชัดทันทีทันใด, ปวดศีรษะรุนแรงไม่เคยเป็นมาก่อน, หมดสติไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

เมื่อพบอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบมาโรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดและเอ็กซเรย์สมอง เนื่องจากมีโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • เนื้องอกในสมอง
  • ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มดูรา

เมื่อไม่พบสาเหตุอื่นหรือเอ็กซเรย์สมองพบสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ในปัจจุบันมีการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดผ่านหลอดเลือดดำภายใน 4.5 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการ หรือการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดผ่านสายสวนหลอดเลือดแดง หรือการใช้เครื่องนำเอาลิ่มเลือดออกทางหลอดเลือดแดงในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม และรับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ให้ยาต้านเกล็ดเลือด ดูแลป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทำกายภาพบำบัด และตรวจหาปัจจัยเสี่ยงและรักษาต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การสูบบุหรี่ และโรคอ้วน

ดังนั้นควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองปัจจัยเสี่ยงและรักษา ตรวจสุขภาพระบบประสาทและสมอง เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ที่มีไขมันต่ำและมีกากใยสูง

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

 

บทความที่เกี่ยวข้อง