พญ. กนกวรรณ วัชระศักดิ์ศิลป์

อัลไซเมอร์ที่ไม่ใช่แค่หลงๆ ลืมๆ

#เข้าใจอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด โดยเริ่มพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่าในทุกๆ 5ปีของช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าพบได้บ่อยในผู้สูงอายุแต่ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นตามปกติของผู้สูงอายุ ในคนที่อายุน้อยก็สามารถพบโรคนี้ได้แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า มักพบในเพศหญิงมากกว่าชายและมักมีการดำเนินโรคเร็วกว่า ยังไม่เป็นที่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงแต่เชื่อว่ามาจากเหตุและปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ตั้งแต่ความผิดปกติของสารพันธุกรรมบางตัว การมีการสะสมที่ผิดปกติของโปรตีนที่เรียกว่าอะมัยลอยด์( Amyloid plaque) และเส้นใยโปรตีน ( Neurofibrillary tangles) จนนำไปสู่การเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง

 

ไม่ใช่แค่อาการหลงๆ ลืมๆ

ผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยการมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ การสูญเสียความจำระยะสั้น เช่นจำบทสนทนาที่พึ่งพูดไปไม่ได้ ลืมชื่อสถานที่หรือสิ่งของซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการหลงลืมจะเป็นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีอาการผิดปกติในด้านอื่นๆร่วมด้วย เช่นการใช้และเข้าใจภาษา การวางแผนการตัดสินใจ ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ มากจนกระทบกับการดำเนินกิจวัตรประจำวัน

 

ในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาฆ่า มาขโมยของ เป็นต้น

สุดท้าย ผู้ป่วยจะอาการแย่ลง ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ไม่พูดจา ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด

 

โดยสรุปอาการหลักๆของโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่

  1. ความบกพร่องด้านความจำ
  2. ความบกพร่องในการใช้ภาษา การใช้เหตุผล
  3. ความผิดปกติทางอารมณ์ และบุคลิกภาพ
  4. กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

อย่างไรก็ตามการดำเนินโรคของผู้ป่วยในแต่ละรายมีความแตกต่างกัน อาจมีอาการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในระหว่างการดำเนินโรคได้โดยมีช่วงค่าเฉลี่ยของอายุเมื่อเป็นโรคอยู่ประมาณ 3 -10 แต่มีบางรายที่มีอายุนานถึง 20 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเมื่อได้รับวินิจฉัยและสุขภาพพื้นฐานโดยรวมของผู้ป่วย

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การป้องกันโรคต่างๆจึงเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค ดังนี้

  1. พยายามทำกิจกรรมการกระตุ้นความคิดอยู่เสมอ เช่น ฝึกทำอาหารสูตรใหม่ๆ เล่นกีฬาใหม่ๆ เป็นต้น คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดเกมป้องกันสมองเสื่อม 
  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง
  3. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  4. ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
  5. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
  6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  7. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม
  8. ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะ ๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อัลไซเมอร์ที่ไม่ใช่แค่หลงๆ ลืมๆ-Alzheimer02

การรักษาโรคอัลไซเมอร์

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้  ดังนั้นการรักษาจึงมุ่งเน้นเพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยลดความบกพร่องทางการรู้คิด และสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันและเข้าสังคมให้ได้มากที่สุด

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

พญ.กนกวรรณ วัชระศักดิ์ศิลป์

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท

ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง  | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคสมองและระบบประสาท 

โทร 052 089 888  หรือ Call Center: 1719 

" เปิดให้บริการทุกวัน  เวลา 08.00 – 16.00 น. "