นาทีนี้เชื่อว่าใครก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์การรับประทานอาหารแบบ IF หรือ Intermittent Fasting หรือการงดอาหารเป็นช่วงๆ นั้นมาแรง ชนิดที่เราๆ ต้องเคยได้ยิน กลุ่มตัวเลขปริศนา “IF 18/6, IF 20/4 หรือ IF 23/1” กันบ้างจากคนรอบตัวที่รักสวยรักงามและสาวๆ ผู้รักสุขภาพทั้งหลาย
กระแสความเชื่อที่ว่าการงดอาหารเป็นช่วงๆ แบบ IF นั้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพและความงามไปพร้อมกัน ทั้งช่วยลดน้ำหนักตัว ลดปริมาณไขมันในร่างกาย โดยไม่ต้องควบคุมปริมาณอาหาร ที่สำคัญสามารถรับประทานอาหารในปริมาณและพลังงานเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัด แถมยังอาจจะช่วยชะลอวัยให้สวยสดใสได้ทำให้ความนิยมดังกล่าวถูกแชร์กันปากต่อปาก และเป็นคำค้นสุดฮิตติดเทรนด์สุขภาพและความงามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับนักกำหนดอาหารแล้ว Intermittent Fasting (IF) ก็คือ การอดอาหารเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง โดยการกําหนดช่วงเวลาในการบริโภคอาหารและช่วงเวลาในการอดอาหารที่ชัดเจน ไม่ได้ให้ความสนใจกับการกําหนดพลังงานหรือแคลอรี่เป็นหลัก โดยสามารถทำได้ 4 แบบด้วยกัน
1.) การอดอาหารสลับวัน Alternate-day Fasting มีวันที่รับประทานอาหารได้ตามปกติโดยไม่กําหนดพลังงาน สลับกับวันที่อดอาหารทั้งวัน ซึ่งสามารถบริโภคได้เพียงน้ำดื่มและเครื่องดื่มที่ไม่มีพลังงานเท่านั้น นิยมแบ่งเป็น Fast Day คืออดอาหาร 2 วันต่อสัปดาห์ (ไม่ต่อเนื่องกัน) และ Feast day คือ รับประทานอาหารได้ตามความต้องการโดยไม่จํากัด 5 วันต่อสัปดาห์
2.) การอดอาหารที่ปรับจากการอดแบบสลับวัน Modified Alternate-day Fasting โดยในวันที่กำหนดให้อดอาหาร 2 วันต่อสัปดาห์ สามารถรับประทานอาหารได้บ้าง ซึ่งเป็นอาหารพลังงานต่ำประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรือเครื่องดื่มพลังงานต่ำ เช่น กาแฟดำ ชาดำ เครื่องดื่มสมุนไพร ที่ไม่มีการเติมนมและน้ำตาล เป็นต้น สามารถปฏิบัติตามได้ง่ายกว่าวิธี Alternated day Fasting
3.) การอดอาหารที่เน้นการจำกัดระยะเวลาในการรับประทานอาหารในหนึ่งวัน Time-restricted Feeding ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด และมักนิยมเรียกว่าเป็นวิธี IF เช่น IF 18/6 IF 20/4 หรือ IF 23/1 เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น IF 18/6 หมายถึง กำหนดระยะเวลาอดอาหาร 18 ชั่วโมงต่อวัน และระยะเวลาที่สามารถรับประทานอาหารได้ 6 ชั่วโมงต่อวัน ในเวลา 6 ชั่วโมงนี้เอง เราสามารถรับประทานอาหารในปริมาณ และพลังงานเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัด
4.) การอดอาหารเป็นช่วงๆ ตามข้อกําหนดของศาสนา Religious Fasting
- ศาสนาพุทธ บริโภคอาหารหลักเพียง 2 มื้อ คือ มื้อเช้าและมื้อเพล (ก่อนเที่ยง)
- ศาสนาคริสต์ มีการถือศีลอดในบางนิกาย เช่น Seventh Day Adventists และ Latter-day Saints
- ศาสนาอิสลาม ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน สามารถบริโภคอาหารได้ในช่วงหลังตะวันตกดินจนถึงก่อนตะวันขึ้นเท่านั้น
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัวและน้ำตาลในเลือดแล้ว ก็สามารถใช้วิธีการ IF หรืออดอาหารเป็นช่วงๆ ได้เช่นกัน และควรปรึกษาทีมแพทย์อายุรกรรม ผู้ให้ความรู้เบาหวาน หรือนักกำหนดอาหารก่อนเริ่มอดอาหาร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการปรับขนาดยารับประทานและยาฉีดอินซูลิน เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว
โดยสามารถทำได้โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับชนิดยาที่ใช้ ได้แก่
1.) กลุ่มที่ใช้ยาที่ไม่ทำให้นํ้าตาลตํ่า เช่น เมตฟอร์มินไฮโดรคลอไรด์ (Metformin Hydrochloride) หรือ ไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) เป็นต้น
2.) กลุ่มที่ใช้ยาที่อาจทำให้นํ้าตาลตํ่าหรือมีใช้ยาฉีดอินซูลินร่วม เช่น ยาซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea)
3.) กลุ่มที่ใช้ยาฉีดอินซูลินเพียงอย่างเดียว
โดยผู้ใช้ยากลุ่มที่1 ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการใช้ยาแต่อย่างใด สามารถเริ่มทำการงดอาหารเป็นช่วงๆ ได้เลย ในขณะที่กลุ่มที่ 2 และ 3 จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อปรับการใช้ยาให้เข้ากับพฤติกรรมการกินที่ต่างไปจากเดิม
เนื่องจากในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน อาจพบอาการข้างเคียงของการทำ IF ได้ อาทิ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดศีรษะ ขาดน้ำ ไปจนถึงทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำในช่วงที่อดอาหาร โดยการรับประทานอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกาย ในช่วงระยะเวลาที่ไม่อดอาหารนั้น อาจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูงได้ จึงแนะนำผู้ป่วยเบาหวานที่งดอาหารเป็นช่วงๆ ว่าควรใส่ใจกับการปรับรูปแบบอาหารให้เหมาะสม ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ในช่วงการรับประทานอาหารปกติร่วมด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
ด้วยความปรารถนาดีจาก
ณัฐริกา ปัญโญ
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
วารสารสมาคมนักกําหนดอาหารแห่งประเทศไทย ปีที่ 39 ฉบับที่ 1-3 ม.ค.-ธ.ค.2562
การงดอาหารเป็นช่วงๆกับการลดน้ำหนักในผู้เป็นเบาหวาน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
Intermittent Fasting for Thai DM Friends โดยคุณสมิทธิ โชติศรีลือชา นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรรมการ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย