วัคซีนเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน เส้นทางสู่สุขภาพที่ยั่งยืน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

                    โรคเบาหวานยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ในกลุ่มโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต หรือที่เรียกว่า โรค NCDs เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรัง ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ และจะมีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย

                      คุณหมอพร้อมพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ได้อธิบายความสำคัญของการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงแนะนำวัคซีนที่ควรฉีดเพื่อให้สามารถช่วยลดการเจ็บป่วย ลดอัตราการนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล และลดความรุนแรงของการติดเชื้อ Centers for Disease Control and Prevention (CDC)   โดยแบ่งเป็น 6 ชนิดดังต่อไปนี้ 

วัคซีน Vaccine ความถี่
วัคซีนป้องกันโควิด 19 Covid-19 vaccine 1 เข็ม เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ทุก 1 ปี
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  Influenza vaccine ทุก 1 ปี ฉีดช่วงเริ่มฤดูฝน
วัคซีนป้องกัน คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก Tetanus-Diphtheria-Pertussis (Tdap) vaccine ทุก 10 ปีหากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี Hepatitis B vaccine ควรได้รับวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม ส่วนคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ให้พิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อเป็นรายบุคคลไป
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ Pneumococcal vaccine(PCV-13 and PPSV-23) PCV-13 1 เข็ม ตามด้วย PPSV-23 1 เข็ม และอาจต้องกระตุ้นซ้ำตามข้อบ่งชี้
วัคซีนป้องกันงูสวัด Zoster vaccine 1 คร้้งป้องกันได้ ตลอดชีวิต

 

  1. วัคซีนป้องกันโควิด 19  (Covid-19 vaccine) หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีนัก ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีโอกาสเกิดติดเชื้อโควิด 19 รุนแรงกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้มีอัตราการติดเชื้อที่ปอดและเสียชีวิตสูง ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ดี  สำหรับผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และสังเกตอาการตนเองอย่างสม่ำเสมอ
  2. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  (Influenza vaccine) ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคหลอดเลือดตีบ มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถลดอัตราการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดอัตราเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาด ด้วยไข้หวัดใหญ่มีการระบาดทุกปีในประเทศไทยสถิติจากกรมควบคุมโรค ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด ระบบหายใจล้มเหลว และมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปีซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม หรือ ก่อนฤดูหนาวในช่วงเดือนตุลาคม
  3. วัคซีนป้องกัน คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก (Tetanus-Diphtheria-Pertussis (Tdap) vaccine) ในผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคคอตีบ มักมีอาการ ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ กลืนลำบาก โรคไอกรน นำไปสู่อาการไอที่รุนแรงมาก มีเสียงของลมหายใจดัง ไอต่อเนื่องกัน จนมีผลกระทบต่อการรับประทาน การดื่ม และการหายใจ ส่วนโรคบาดทะยัก ถ้าติดเชื้อจะทำลายระบบประสาท เกิดอาการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง ชักกระตุก หายใจลำบาก รุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ทุก 10 ปี
  4. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine) ผู้ป่วยเบาหวานว่ามีโอกาสการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าคนทั่วไป(อ้างอิงข้อมูลศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา CDC) แนะนำว่าในผู้ป่วยเบาหวานที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ควรได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งไวรัสตับอักเสบบีเป็นเชื้อที่หลายคนมองข้าม เพราะหลังติดเชื้อมักไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพิ่มโอกาสการเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับได้ ก่อนฉีดวัคซีนควรเจาะเลือดตรวจดูว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ ถ้ายังไม่มีภูมิ ควรได้รับวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม ส่วนคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ให้พิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อเป็นรายบุคคลไป
  5. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine(PCV-13 and PPSV-23)) ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่าปกติ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคอล (pneumococcal bacteria) ลักษณะอาการทำให้ผู้ป่วยเบาหวานติดเชื้อที่ปอดบ่อย สามารถทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตได้สูงขึ้นถึงร้อยละ 50  วัคซีนป้องกันปอดอักเสบมี 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ (The 13-valent pneumococcal conjugate vaccine หรือ PCV-13) และ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์ (The 23-valent pneumococcal polysaccharide vaccine หรือ PPSV-23) แนะนำว่าควรฉีดทั้ง 2 ชนิด โดยเว้นระยะห่าง 1 ปี อาจต้องกระตุ้นซ้ำตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  6. วัคซีนป้องกันงูสวัด (Zoster vaccine) ในกรณีติดเชื้องูสวัด เราพบว่าผู้ป่วยเบาหวานจะมีผื่นที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป แผลหายช้า และอาจเกิดภาวะปลายประสาทอักเสบรุนแรงได้ โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม herpes zoster จะมีผื่นขั้นเป็นตุ่มน้ำใส จากนั้นกลายเป็นตุ่มหนองและตกสะเก็ด มักเป็นข้างใดข้างหนึ่งของใบหน้า หรือลำตัว หรือแขนขา อาจส่งผลให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่เคยเป็นผื่นไปได้นานหลายปี และสามารถเป็นซ้ำได้ตลอดชีวิตเนื่องจากเชื้อไปฝังตัวที่ปมประสาท การฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ ลดปริมาณผื่น ทำให้ผื่นหายเร็วขึ้น ไม่ลุกลาม ไม่กลับเป็นซ้ำบ่อยๆ การฉีดวัคซีนจะฉีดเพียง 1 ครั้ง ป้องกันได้ตลอดชีวิต

 

                      ใครที่มีอาการหรือมีคนใกล้ชิดเป็นโรคเบาหวาน ลองสำรวจดูว่าคนเหล่านั้นได้รับวัคซีนตามที่คุณหมอแนะนำกันครบกันแล้วหรือยังอย่าลืมว่า ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันอาการความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน แต่การป้องกันที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงควบคุมการรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนัก รวมถึงปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ  หรือสามารถคลิกที่นี่เพื่อติดต่อรับปรึกษากับคุณหมอและทีมโภชนาการของโรงพยาบาลได้

ด้วยความปรารถนาดี

พ.ญ. พร้อมพรรณ พฤกษากร
อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
โทร. 052 089 888 หรือ call center 1719