ในช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนบวช ผู้นับถือศาสนาอิสลามจะถือศีลอด งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ดังนั้นการรับประทานยาหรือการใช้ยาจึงต้องปรับเปลี่ยนเวลารับประทานหรือปรับขนาดยาด้วย โดยเฉพาะยาที่มีการออกฤทธิ์สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารหรือระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการถือศีลอด โดยแพทย์จะประเมินความพร้อมของร่างกาย ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการข้างเคียงจากยา ขนาดมื้ออาหารที่รับประทาน กิจกรรมระหว่างวัน และให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
การปรับยาเบาหวานเบื้องต้นมีหลักการคือ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากการงดอาหารและน้ำ ยาที่ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้ำตาลในเลือดต่ำสามารถใช้ยาขนาดปกติ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ถือศีลอดจะรับประทานอาหาร 2 มื้อหลัก คือมื้อก่อนพระอาทิตย์ขึ้น (สะฮูร, ซุโฮร์; Suhoor) และมื้อหลังพระอาทิตย์ตก (อิฟตาร์; Iftar) มักเปลี่ยนเวลาจากยามื้อเช้าซึ่งเป็นมื้อหลักไปเป็นยามื้อหลังพระอาทิตย์ตก และยาที่เดิมรับประทานมื้อเย็นก็เปลี่ยนเป็นมื้อก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
ตัวอย่างยาที่เกิดอาการข้างเคียงน้ำตาลในเลือดต่ำได้น้อย เช่น
- ยากลุ่ม Biguanides ได้แก่ Metformin (ตัวอย่างชื่อการค้า Glucophage® , Metformin®)
- ยากลุ่ม Alpha-glucosidase inhibitors ได้แก่ Acarbose (ตัวอย่างชื่อการค้า Glucobay®)
- ยากลุ่ม Thiazolidinediones ได้แก่ Pioglitazone (ตัวอย่างชื่อการค้า Actos® , Utmos®)
- ยากลุ่ม DPP-4 inhibitors เช่น Sitagliptin (ตัวอย่างชื่อการค้า Januvia®), Vildagliptin (ตัวอย่างชื่อการค้า Galvus®), Linagliptin (ตัวอย่างชื่อการค้า Trajenta®), Saxagliptin (ตัวอย่างชื่อการค้า Onglyza®), Alogliptin (ตัวอย่างชื่อการค้า Nesina®), Gemigliptin (ตัวอย่างชื่อการค้า Zemiglo®), Trelagliptin (ตัวอย่างชื่อการค้า Zafatek®)
- ยากลุ่ม SGLT2 inhibitors เช่น Dapagliflozin (ตัวอย่างชื่อการค้า Forxiga®), Canagliflozin (ตัวอย่างชื่อการค้า Invokana®), Empagliflozin (ตัวอย่างชื่อการค้า Jardiance®), Luseogliflozin (ตัวอย่างชื่อการค้า Lusefi®) แต่ยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังในการเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (Ketoacidosis)
- ยาฉีดกลุ่ม GLP-1 analog เช่น Liraglutide (ตัวอย่างชื่อการค้า Victoza®, Saxenda®), Dulaglutide (ตัวอย่างชื่อการค้า Trulicity®), Semaglutide (ตัวอย่างชื่อการค้า Ozempic®) ยากลุ่มนี้อาจทำให้คลื่นไส้ ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการข้างเคียง โดยแพทย์อาจลดขนาดยาลงเพื่อลดอาการข้างเคียงจากยา
ส่วนยากลุ่มที่กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนเสี่ยงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้จึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด แพทย์อาจแนะนำให้ปรับลดขนาดยาหรือจำนวนมื้อยาที่ใช้ต่อวันลงเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น
- ยากลุ่ม Sulfonylureas เช่น Glimepiride (ตัวอย่างชื่อการค้า Amaryl®), Gliclazide (ตัวอย่างชื่อการค้า Diamicron MR®), Glipizide (ตัวอย่างชื่อการค้า Minidiab®, Dipazide®), Glibenclamide (ตัวอย่างชื่อการค้า Daonil®, Sugril®)
- ยากลุ่ม Non-sulfonylureas เช่น Repaglinide (ตัวอย่างชื่อการค้า Novonorm®)
- ยาฉีดอินซูลิน ทั้งชนิดยาเดี่ยวและยาผสม (ตัวอย่างชื่อการค้า Humulin-R®, Humalog®, Novorapid®, Novomix 30®, Lantus solostar®, Toujeo®, Levemir®, Tresiba®, Ryzodeg®, Soliqua solostar®, Xultophy®)
ทั้งนี้หากผู้ที่ถือศีลอดมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น รู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ หมดสติ หรือเจาะวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยกว่า 70 mg/dL ควรหยุดการถือศีลอดและรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำผลไม้ น้ำหวาน เป็นต้น หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบมาโรงพยาบาล
ที่มา:
- Faris, Moezalislam & Alliance, International & Hassanein, Mohamed. (2021). Diabetes and Ramadan: Practical Guidelines 2021.
- แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560
- Al-Arouj, Monira. et al. Recommendations for Management of Diabetes During Ramadan. Diabetes Care 33.8 (2010): 1895-1902.
ผู้เขียน เภสัชกร วรพจน์ บุญมาทอง