จริงหรือไม่ ที่การวัดความดันฯ ต้องติดตามตลอด 24 ชั่วโมง? - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ในท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความรู้ของวงการแพทย์นั้น ยิ่งศึกษาวิจัย กลับยิ่งพบว่าโรคความดันโลหิตสูงที่ทุกคนคิดว่ารู้จักกันดีนั้น กลับเป็นโรคที่เต็มไปด้วยปริศนา ลึกลับ ชวนท้าทายเป็นที่ยิ่ง

ด้วยว่า “โรคความดันโลหิตสูง”ที่มีผู้ป่วยมากมายติดอันดับต้นในแต่ละประเทศนี้  มีความซับซ้อนในหลากหลายมิติ เสมือนจอมโจรแสนฉลาดผู้แฝงเร้นตัวอย่างลึกลับและปรากฏตัวในแต่ละสถานการณ์ด้วยบุคลิกที่แตกต่างกัน บ่อยครั้งที่เราพบว่าผู้ที่เมื่อวัดความดันฯ กับแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกก็ดี มักจะได้อีกค่าความดันโลหิตที่แตกต่างอย่างมากจากการวัดความดันด้วยตนเองที่บ้านในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และยังมีการค้นพบเพิ่มเติมว่าค่าความดันโลหิตของบุคคลเดียวกันที่วัดได้ในขณะตื่นและในยามนอนหลับก็แตกต่างกัน งานวิจัยที่ผ่านมาได้แสดงว่า ตัวแปรสำคัญอย่าง “ค่าความดันโลหิตที่สูงผิดปกติในขณะนอนหลับ” (Asleep Hypertension) นี่แหละที่เป็นตัวชี้ถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างแม่นยำยิ่งกว่าค่าการวัดความดันที่วัดตามปกติในโรงพยาบาล ดังนั้นจึงทำให้คณะนักวิจัยต้องการศึกษารายละเอียดของกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อหาทางแก้ไข

จากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาดังกล่าว พบว่าภาวะความดันโลหิตสูงขณะนอนหลับนี้จะพบมากในกลุ่มที่เป็นเพศชาย, กลุ่มผิวสี กลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น และพบได้ถึงร้อยละ18.8 ของประชากรที่มีการสำรวจ

ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ค่าความดันโลหิตอย่างครบถ้วนละเอียดลออสำหรับการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง แพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ผู้ป่วยติดอุปกรณ์ที่เรียกว่า Ambulatory Blood Pressure Monitoring - ABPM หรือ เครื่องวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง” ที่ผู้ป่วยสามารถพกติดตัวและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทั้งในยามหลับและยามตื่น

blood-pressure-measurement
Image by : clevelandclinic

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าโรคความดันโลหิตสูงนั้น มีความซับซ้อนและบางคราวมีลักษณะสูงผิดปกติแบบซ่อนเร้น (Masked Hypertension) ดังนั้น เครื่องมือดังกล่าวจึงสามารถช่วยให้แพทย์ตรวจพบ ลักษณะของความดันโลหิตแบบพิเศษที่ไม่อาจตรวจพบได้จากการตรวจวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล (Clinical BP) ผลที่ได้จากการวัดความดันโลหิตด้วยเครื่อง ABPM นี้ นอกจากจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยความดันโลหิตแล้ว ยังช่วยในการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตตอนกลางคืนสูงผิดปกติหรือผู้ที่มีความดันโลหิตที่บ้านสูงเป็นพิเศษได้อีกด้วย

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

ศ.เกียรติคุณ นพ. อภิชาต สุคนธสรรพ์

ศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่

โทร 052 089 888 หรือ Call Center  1719