เพราะหัวใจเรามีเพียงดวงเดียว
การดูแลหัวใจจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อลองมาเปิดข้อมูลสถิติจากองค์การอนามัยโลก เป็นเรื่องน่าตกใจ! ที่พบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก “โรคหัวใจและหลอดเลือด” ชั่วโมงละ 2 คน หากตีเป็นตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 37,000 คนต่อปี ซึ่งที่ว่าเป็นตัวเลขที่สูง
ถึงเวลาแล้วหรือไม่? ที่เราทุกคนควรเริ่มตระหนัก และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพหัวใจของเรา
“วันหัวใจโลก” ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์หัวใจโลก หรือ World Heart Federation ได้จัดแคมเปญ “USE ❤️ KNOW ❤️” หรือ “ใช้หัวใจ รู้จักหัวใจ” เพื่อให้คนได้ตระหนักและเข้าใจถึงสุขภาพหัวใจกันยิ่งขึ้น และมุ่งสู่การลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
โดยในปีนี้เอง เราได้รับเกียรติจาก ท่าน ผศ. นพ. วีระชัย นาวารวงศ์ ศัลยแพทย์หัวใจ มือหนึ่งจากศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่ ได้ออกมาเผยสูตรสำเร็จเคล็ดลับที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ตามแบบฉบับ Heart-Healthy Lifestyle ไลฟ์สไตล์ที่ ‘ดีต่อใจ’ เพื่อดูแลหัวใจ “USE ❤️ KNOW ❤️” หรือ “ใช้หัวใจ รู้จักหัวใจ” ดังนี้ค่ะ
1. ใช้หัวใจกินของดี
- ลดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและน้ำผลไม้รสชาติหวาน เลือกดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ไม่มีน้ำตาล เลือกกินผลไม้สดเพื่อดีต่อสุขภาพ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกกินอาหารที่ “ดีต่อใจ”
- ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือความคุมปริมาณการดื่มให้เหมาะสม
- ลดอาหารหวาน มัน เค็ม อาหารสำเร็จรูป เน้นการปรุงด้วยตนเอง
- ลองเข้าครัว หาอาหารบำรุงหัวใจเมนูใหม่ ๆ โดยปัจจุบันสามารถค้นหาได้ง่ายมากทางออนไลน์
2. ใช้หัวใจขยับร่างกาย
- หากิจกรรมที่ได้ขยับร่างกาย เริ่มจากระดับปานกลาง อย่างน้อย 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น ออกกำลังกาย เดิน ทำงานบ้าน และเต้นรำ เป็นต้น
- เสาะหากิจกรรมใหม่ ๆ เช่น การเดินขึ้นบันได เดินออกกำลังกาย หรือขี่จักรยานแทนการขับรถ ในวันที่อากาศดี
- ใช้อุปกรณ์ทันสมัย ช่วยนับจำนวนก้าว อย่าง Smart Watch เพื่อช่วยเก็บสถิติการเดิน อัตราการเต้นของหัวใจ และอื่น ๆ
3. ใช้หัวใจเลิกบุหรี่
- เลิกสูบบุหรี่ 2 ปี ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด
- เลิกบุหรี่ในระยะ 15 ปี ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเทียบเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่
- แม้ไม่สูบก็เสี่ยงโรคหัวใจ หากได้รับควันบุหรี่จากคนอื่น (Secondhand Smoke)
- งด ละเลิกสูบบุหรี่ ดีต่อสุขภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- นัดหมายแพทย์ผู้ชำนาญการของเรา เพื่อหาวิธีการเลิกบุหรี่ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล
เป็นอย่างไรกันบ้าง...ไม่ยากอย่างที่หลายคนคิดเลยใช่ไหมคะ? เมื่อหลังได้อ่านแล้ว เราสามารถนำเคล็ดลับทั้ง 3 ไปปรับใช้ได้ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ทั้งนี้ยังมีตัวช่วยที่อยากแนะนำ นั่นก็คือ เครื่องมือ “ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด Thai CV risk score” ที่จัดทำขึ้นโดยทีมงาน สสส. ร่วมกับสถาบันสาธารณสุขหลายแห่ง โดยผลจากแบบประเมินนี้สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงของโรคได้ถึง 10 ปี เลยทีเดียวนะคะ
ทั้งนี้ผลจากแบบประเมินแบ่งออกเป็น 3 ระดับความเสี่ยง ได้แก่
- ระดับความเสี่ยงสูง “Hight Risk” ควรติดต่อรับคำปรึกษากับแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ระดับความเสี่ยงปานกลาง “Medium Risk” แนะนำปรับพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์การกินอาหาร การออกกำลังกาย และควรที่ได้รับการตรวจประเมินหัวใจเพิ่มเติมเบื้องต้น โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธี
- ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน Exercise Stress Test (EST) ซึ่งจะทดสอบว่า ในขณะที่ออกกำลังกายหัวใจมีสภาพอย่างไร จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดขึ้นหรือไม่ เพราะในบางคนที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักอาจจะไม่พบความผิดปกติใดๆ เเต่พอมาวิ่งสายพานอาจเจอความผิดปกติได้ หากผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะโรคหัวใจมากน้อยเพียงใด
- ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง Echocardiogram (Echo) คือการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ ด้วยการส่งคลื่นเสียงที่มีความปลอดภัยต่อร่างกายไปยังตำแหน่งของหัวใจและสะท้อนสัญญาณกลับมาประมวลผลเป็นภาพ 2-3 มิติ เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจแบบเรียลไทม์ เป็นการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคทางหัวใจได้อย่างแม่นยำ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง หรือแพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ หรือผู้มีอาการโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเสื่อมเรื้อรัง โรคหัวใจสั่นพริ้ว โรคปอดเรื้อรัง
- ระดับความเสี่ยงต่ำ “Low Risk” ร่ายกายของคุณได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แนะนำดูแลอย่างต่อเนื่องและอย่าลืมที่จะตรวจร่างกายประจำปี รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจประจำปีกับแพทย์ผู้ชำนาญการ หรือตรวจด้วยตัวเองง่าย ๆ ด้วยการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ เพราะ “การป้องกันก่อนเกิดโรคนั้นดีต่อใจ”
ศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
โทร. 052089888 หรือ Call Center 1719