งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of the American Heart Association เมื่อเร็วๆ นี้ยืนยันว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นอันตรายต่อหัวใจมากกว่าที่เราคิด เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เข้าสู่ร่างกายจะทำให้หัวใจและหลอดเลือดต้องทำงานหนักมากขึ้น ในขณะที่มีอาการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย เม็ดเลือดขาวจะถูกผลิตและส่งไปยังอวัยวะนั้นๆ เพื่อเตรียมต่อสู้กับไวรัส การระดมกำลังไปสู้กับไวรัสนี้ก่อให้เกิดอาการภาวะลิ่มเลือดขึ้นส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้น เลือดจึงถูกส่งไปเลี้ยงสมองและหัวใจไม่เพียงพอ

  • อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่มีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด
  • โรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจล้มเหลวได้ถึง 10 เท่า
  • คนทุกวัยต่างได้รับผลกระทบจากอาการไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีอัตราความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกัน
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจล้มเหลวจากไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 45%
  • เมื่อได้รับคำแนะนำโดยตรงจากคุณหมอและพยาบาลให้ฉีดวัคซีน จะมีผู้ยอมรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 14 เท่า

ขอบคุณข้อมูลจาก: https://world-heart-federation.org/

 

ถึงแม้จะเป็นที่ทราบดีว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่จะ “กลายพันธุ์” ในทุกๆ ปี แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ก็ยืนยันที่จะออกประกาศให้ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงของอาการเจ็บป่วย เพราะมีข้อมูลมากมายยืนยันว่าผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี จะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่เป็นโรคหัวใจและได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว การได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จึงมีผลดีต่อร่างกายไปไกลกว่าเพียงแค่การป้องกันไข้หวัดประจำปีนั่นเอง

 

สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี ต้องการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถปรับชีวิตประจำวันด้วยการหมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักและความดันโลหิต หมั่นตรวจน้ำตาลในเลือด งดเว้นจากบุหรี่ ความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าลืมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีเป็นประจำโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงเหล่านี้

 

 

ผู้มีความเสี่ยงและควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี

  1. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
  2. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  3. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
  4. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  5. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี

 

ด้วยความปรารถนาดี

ศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร. 052 089888 หรือ Call Center 1719