จะมีโอกาสไหนดีไปกว่า การได้ฟังประสบการณ์จริงจาก ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม แพทย์หญิงอริศฎา พิชญเดชากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศออนโคโลยี ซึ่งผู้ที่เรียกได้ว่า รู้จักและเข้าใจ มะเร็งเต้านมอย่างลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่ง ที่พร้อมจะส่งต่อความหวังและกำลังใจในการรักษามะเร็งเต้านมไปให้ผู้ป่วยและครอบครัวผ่านบทสัมภาษณ์นี้
แพทย์หญิงคนสวยเริ่มพูดคุยกับ BCM Lifestyle ถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสโดยตรงจากผู้ป่วย
“ผู้หญิงเรา พอได้ยินคำว่า ผ่าตัดเต้านม ก็จะกลัวและจินตนาการไป ว่า จะต้องเจ็บมากแน่ๆ ไหนจะต้องตัดเต้านมทิ้งอีก หมดความมั่นใจกันพอดี แต่ด้วยความที่เราเป็นแพทย์เอง เราจึงรู้ว่าการผ่าตัดเต้านมสมัยนี้เจ็บน้อยมาก ยิ่งเป็นการผ่าตัดเต้านมแบบ Painless Surgery ของเราแล้ว ยิ่งเจ็บน้อย จนผู้ป่วยบางคนถึงกับบอกว่าแทบไม่เจ็บเลย แถมยังเก็บเต้านมไว้ได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องตัดทิ้งเสมอไป ” แพทย์หญิงอริศฎากล่าวด้วยน้ำเสียงอบอุ่นและมั่นใจ
จากประสบการณ์ ในฐานะศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมาเป็นจำนวนมาก คุณหมอจึงเลือกใช้วิธีการรักษาแบบ Painless Surgery ซึ่งเป็นการผ่าตัดเต้านมที่เจ็บน้อยกว่าและไม่ต้องตัดเต้า ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ตัวเองเป็นภาระกับร่างกายตนเองและผู้ใกล้ชิดน้อยที่สุด รวมทั้งยังสามารถเก็บรักษาเต้านมไว้เพื่อความมั่นใจอีกด้วย
รุกรักษาก่อนรู้สึกเจ็บปวด
“เรียกได้ว่า เราเข้าไปจัดการความเจ็บปวด ก่อนที่ร่างกายจะรู้จักความเจ็บปวดเสียอีก เพราะความ Proactive ของทีมสหสาขาวิชาชีพของเรานี่แหละ ทำให้การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ แตกต่างจากที่อื่น และยังสร้างประสบการณ์การผ่าตัดที่ดีให้กับผู้ป่วยด้วย” ศัลยแพทย์หญิงอธิบาย
ด้วยความตั้งใจที่อยากจะรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคนให้หายเป็นปกติ และทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดน้อยที่สุด การรักษาแบบ Painless Surgery หรือการผ่าตัดแบบที่หลังผ่าแล้วไม่เจ็บปวดหรือเจ็บปวดน้อยที่สุดจึงเกิดขึ้น จากการร่วมมือกันแบบสหสาขาวิชาชีพของศูนย์แห่งความเป็นเลิศออนโคโลยี นำโดย ทีมแพทย์ศัลยกรรม วิสัญญีแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ ฯลฯ โดยแพทย์ศัลยกรรมเป็นผู้พิจารณาว่า ผู้ป่วยแต่ละรายต้องใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบไหนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลังผ่าตัดแล้วเต้านมของผู้ป่วยจะยังคงรูปสวยงามและเป็นปกติเหมือนก่อนผ่าตัดมากที่สุด
วิสัญญีแพทย์จะทำงานเชิงรุกเพื่อเข้าไปจัดการความเจ็บปวดแบบตรงจุด ด้วย การวัดระดับความเจ็บปวด Pain Scale จากการตั้งคำถามง่ายๆ ถามผู้ป่วยหลังผ่าตัดว่า
‘ตอนนี้รู้สึกเจ็บไหม ถ้าให้คะแนนความเจ็บ 1-10 ให้คะแนนเท่าไหร่?’
โดยผู้ป่วยจะถูกสอบถามหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นและหลังจากนั้นทุกระยะ เพื่อให้วิสัญญีแพทย์สามารถประเมินระดับความเจ็บปวดและเลือกให้ยาเพื่อระงับความเจ็บปวดตรงตามอาการได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดน้อย หรือบางรายแทบจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย
นอกจากจะถูกใช้ในการผ่าตัดเต้านมแล้ว Painless Surgery ยังถูกนำไปใช้กับการผ่าตัดอื่นๆ ในโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ด้วย เช่น การผ่าตัดข้อหรือเข่าแบบส่องกล้อง การผ่าตัดคลอด การผ่าตัดกระดูกสะโพก เป็นต้น
ใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังการผ่าตัดเพียงไม่กี่วัน
“สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เลย ไม่มีปัญหา” แพทย์หญิงอริศฎายิ้มพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนเวลาผ่าตัดเต้านม แพทย์จะเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเยอะ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาข้อแขนติด ทำให้เคลื่อนไหวลำบากเมื่อต้องยกแขน แต่ปัจจุบันเราจะฉีดสีเข้าไปก่อน แล้วเลาะต่อมน้ำเหลืองแค่บางต่อมที่ติดสีเท่านั้น ทำให้ลดโอกาสการเกิดข้อแขนติดและยังช่วยลดอาการบวมหลังผ่าตัดด้วย
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมใช้เวลาพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วยเพียง 1-2 วันเท่านั้น ก็สามารถกลับบ้านได้ พร้อมใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนก่อนผ่าตัด ไม่เพียงความรู้สึกและประสาทสัมผัสยังคงเหมือนเดิม แต่กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำ เช่น การออกกำลังกายก็สามารถทำต่อได้เลย
ระดมทุกความเชี่ยวชาญสำหรับวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละราย
ทีมสหสาขาวิชาชีพ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศออนโคโลยี จะจัดประชุมร่วมกันในนาม Tumor Board Conference เพื่อระดมความรู้ความสามารถจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา รวมทั้งพยาธิแพทย์ เพื่อหารือถึงแนวทางการรักษาโดยเน้นที่ความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยแต่ละราย หลังการผ่าตัดแล้วบางรายอาจไม่จำเป็นต้องรับยาเคมีบำบัดต่อ บางรายจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยในแต่ละกรณี
อายุมากหรือน้อยก็มีความเสี่ยง
ด้วยประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่สั่งสมมานาน คุณหมออริศฎาแนะนำว่า การหมั่นดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นสิ่งที่ผู้หญิงอย่างเราควรเตือนตัวเองให้ทำอยู่เสมอ
“ผู้หญิงเราทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย ไม่มีบุตร เคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่เต้านม หรือมีญาติสายตรงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนบางชนิด และผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้ ควรต้องหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ชะล่าใจไม่ได้เลย นอกจากนี้ ควรเลือกตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แบบที่มีการตรวจแมมโมแกรมควบคู่ไปกับการตรวจอัลตราซาวนด์พื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าพบแต่เนิ่นๆ แนวทางการรักษาก็จะง่ายกว่า โอกาสหายจะมีสูงถึง 90%”
หากตรวจเจอมะเร็งเต้านมในระยะที่ 0 – 1 ซึ่งเป็นระยะที่มักจะยังไม่แสดงอาการ บางรายอาจมีอาการเจ็บจี๊ด หรือ คลำพบก้อน แต่บ่อยครั้งที่เราพบผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเจ็บหรือไม่มีสัญญาณล่วงหน้าใดๆ เลยว่า กำลังเป็นมะเร็งเต้านม และยิ่งในปัจจุบันที่ เราพบผู้ป่วยอายุน้อยลงทุกขณะ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอายุน้อยที่สุดในปีนี้ที่เราพบ มีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น! [อ่านบทความมะเร็งเต้านมในคนอายุน้อยเพิ่มเติม คลิก]
ด้วยความปรารถนาดีจาก
แพทย์หญิงอริศฎา พิชญเดชากุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศออนโคโลยี | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่