เป็นที่รู้กันดีว่าโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ นั้นส่งผลร้ายมากมายต่อร่างกายเราขนาดไหน
โดยทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาเช่น ความดันสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ภาวะอ้วน โรคซึมเศร้า ภาวะนอนไม่หลับ.....
มีการศึกษาหลายการศึกษาได้พบว่ามลภาวะโดยเฉพาะ PM2.5 เพิ่มความรุนแรงของโรคทางเดินหายใจเนื่องจากทำให้เกิดการอักเสบและการบวม ทำให้โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ภูมิแพ้ กำเริบได้
นอกจากนั้นแล้ว.....ปลายปีที่ผ่านมานี้เอง มีงานวิจัยชิ้นนึงที่ทำในสหรัฐอเมริกา พบว่าการสัมผัสมลภาวะเป็นระยะเวลานานๆทำให้เสี่ยงกรนหยุดหายใจมากขึ้นได้อีกด้วย
การศึกษานี้วัดมลภาวะรอบบ้านของคนจำนวน 1,974 คน เป็นเวลานาน 5 ปี พบว่า การสัมผัสกับมลภาวะ ฝุ่นPM2.5 และก๊าซ ไนโตรเจน ไดออกไซด์ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหยุดหายใจขณะหลับโดยทุกๆการหายใจเอา 10 ppbของไนโตรเจน ไดออกไซด์ ที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับ
39 % และการหายใจเอาทุกๆ 5 µg/m3 ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับถึง 60%
โดยการวิจัยนี้ได้ตัดปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆที่อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหยุดหายใจขณะหลับออกแล้ว เช่นเพศ ความอ้วน เป็นต้น
สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าอาจเกิดจากการอักเสบและการบวมของทางเดินหายใจส่วนต้นร่วมกับการที่ฝุ่นเข้าสู่สมองได้โดยตรงไปมีผลกับสมองที่ควบคุมการหายใจโดยตรง.....
โดยสรุปก็คือปัจจัยเรื่องฝุ่นมลภาวะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงนึงที่ไม่ควรมองข้ามและทุกๆฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นนั่นเอง
เพราะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอย่างมากมายเลยทีเดียว.....
พญ ดารกุล พรศรีนิยม
อายุรแพทย์ด้านระบบประสาทและโรคจากการนอนหลับ
ศูนย์สมองและระบบประสาท
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่