นพ. สุทธิกร ตัณฑ์ไพโรจน์

 

“ปวดหัว” อย่านิ่งนอนใจ ต้องระวัง “เนื้องอกในสมอง”

 

          “ปวดหัว” เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและหลายคนมักมีความเข้าใจผิดว่าเพียงแค่ทานยาแก้ปวดก็สามารถรักษาอาการปวดหัวได้ แต่แท้จริงแล้ว หากอาการปวดหัวไม่หายและมีทีท่ารุนแรงมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกในสมองได้ และในขณะเดียวกันส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า เนื้องอกในสมอง ไม่ใช่เนื้อร้าย หรือ มะเร็งเสมอไป แต่สามารถรักษาได้ และผู้ป่วยเนื้องอกในสมองจำนวนมากสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้เหมือนเดิมหลังได้รับการรักษาแล้ว

 

เนื้องอกในสมอง - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

เนื้องอกสมองคืออะไร ?

          เนื้องอกสมอง คือการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียงกับสมอง เช่น เยื้อหุ้มสมอง, กะโหลกศีรษะ จนเกิดเป็นก้อนซึ่งส่งผลต่อการทำงานปกติของสมอง

 

ชนิดของเนื้องอกสมอง

          โดยปกติ แพทย์จะแบ่งชนิดของเนื้องอกสมองตามที่มาของเซลล์ที่เกิดเป็นเนื้องอกในสมอง ถ้าเป็นเซลล์ของเนื้อสมองเองที่เกิดเป็นเนื้องอก จะเรียกว่า เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ (primary brain tumor)แต่ถ้าเป็นเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น จะเรียกว่า มะเร็งที่แพร่กระจายมายังสมอง (metastatic brain tumor)

นอกจากนั้น อาจแบ่งชนิดตามความเป็นเนื้อร้ายของเซลล์ ถ้าเป็นเซลล์ที่ไม่มีความเป็นมะเร็ง  ก็จะเป็นเนื้องอกสมองชนิดธรรมดา (benign brain tumor)  ส่วนใหญ่ ประมาณสองในสามของเนื้องอกสมองทั้งหมด เป็นเนื้องอกสมองชนิดธรรมดานี้ ซึ่งจะไม่ลุกลามสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงและไม่แพร่กระจายไปยังที่อื่น แต่ก็สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของสมองได้ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกสมอง และส่วนใหญ่ หลังจากผ่าตัดเอาเนื้องอกสมองชนิดธรรมดานี้ออกไปแล้ว ก็มักจะไม่กลับมาเป็นใหม่อีก ในทางตรงกันข้าม ถ้าเซลเนื้องอกสมองนั้นเป็นมะเร็ง ก็จะเรียกว่า เนื้อร้ายหรือมะเร็งในสมอง (malignant brain tumor)  ซึ่งเซลล์มะเร็งนี้มักจะลุกลาม แพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้คียง และสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ง่ายหลังการรักษา

 

อาการของเนื้องอกสมอง

          ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกสมองอาจมีอาการและอาการแสดงได้หลายๆอย่าง ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด การขยายขนาดของเนื้องอกสมอง ในบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลยตอนที่ตรวจเจอเนื้องอกสมองก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการที่พบบ่อยๆของเนื้องอกสมอง คือ

  • ปวดศีรษะที่ไม่หายไปสักที
  • ชัก
  • แขนขาอ่อนแรง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • การเคลื่อนไหวของแขนขาผิดปกติ ไม่ราบรื่น
  • สายตามัวลงหรือเห็นภาพซ้อน
  • อาเจียน
  • พูดจาติดตๆขัดๆ หรือความเข้าใจภาษาผิดปกติ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
  • ความจำเสื่อม

ถ้าท่านมีอาการที่สงสัยว่าอาจจะเป็นเนื้องอกสมอง กรุณาติดต่อแพทย์โดยเร็ว

 

การวินิจฉัย

          การวินิจฉัยโรคเนื้องอกสมองเป็นกระบวนสืบค้นโรคที่ค่อนข้างซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายสาขา ในตอนแรก แพทย์อาจถามเกี่ยวกับอาการที่เป็น และตรวจร่างกายเพื่อหาอาการแสดงที่ผิดปกติ หลังจากนั้นอาจจะเจาะเลือดและส่งสแกนสมอง

 

ซีทีสแกน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

การถ่ายภาพรังสีของสมอง: เพื่อวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกสมองหรือไม่ หรืออยู่ตรงตำแหน่งใดในสมอง แพทย์จะส่งถ่ายภาพรังสีของสมอง หรือที่มักเรียกกันว่า “สแกน” ซึ่งอาจเป็น ซีทีสแกน (CT scan – computerized tomography) หรือ เอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI – magnetic resonance imaging) โดย CT จะเป็นการใช้รังสีเอ็กซเรย์ถ่ายภาพในมุมต่างๆแล้วใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์และสร้างภาพถ่ายของสมองออกมา ในขณะที่ MRI จะสร้างภาพโดยการใข้หลักการของสนามแม่เหล็ก ปกติแล้ว แพทย์มักส่งแสกนด้วย CT ก่อนเพราะง่ายกว่าและรวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าแพทย์ต้องการรายละเอียดที่มากขึ้น อาจต้องส่ง MRI เพิ่ม ซึ่ง MRI นั้น จะใช้เวลาในการแสกนนานกว่า (ในบางครั้งอาจถึง 2 ชั่วโมง) และอาจทำให้ผู้ป่วยเบื่อและรำคาญมาก เนื่องจากผู้ป่วยต้องไปนอนนิ่งๆในเครื่องสแกนที่แคบและเสียงดังเป็นระยะเวลานาน

การตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ (Biopsy): ในบางครั้ง การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจก็มีความจำเป็น เพื่อให้ได้การนิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด แพทย์จะได้วางแผนในการรักษาขั้นต่อไปได้อย่างเหมาะสม ในการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจนั้น แพทย์ต้องทำการผ่าตัดสอดเข็มผ่านกะโหลกศีรษะเข้าไปในเนื้องอกอย่างแม่นยำ แล้วตัดชิ้นเนื้องอกเล็กๆออกมาเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์เซลเนื้องอกต่อไป ในบางครั้งอาจทำร่วมกับการทำผ่าตัดเอาเนื้องอกสมองออก การตัดชิ้นเนื้องอกส่งตรวจนี้ถือเป็นการผ่าตัดเล็กๆ แต่ก็มีอาจมีผลแทรกซ้อนต่อเนื้อสมองได้เช่นกัน

การเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เนื้องอกสมองบางชนิดหลั่งฮอร์โมนหรือสารเคมีบางอย่างออกมาที่เราเรียกว่า “tumor marker” ทำให้แพทย์สามารถบอกชนิดของเนื้องอกสมองและทำให้แพทย์สามารถใช้ tumor marker นี้ในการติดตามการรักษาได้

การรักษา

          การรักษานื้องอกสมองมีตั้งแต่การรักษาทางยา การให้เคมีบำบัด(คีโม) การให้รังสีรักษา(ฉายแสง) การผ่าตัดเนื้องอกสมอง หรือใช้การรักษาหลายๆอย่างร่วมกัน การรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ชนิด ขนาด และ ตำแหน่งของเนื้องอกในสมอง อายุและสภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้วจะมีการประชุมแพทย์หลายๆแขนงเป็นสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary) เช่น ศัลยแพทย์ระบบสมองและประสาท อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์กายภาพบำบัด นักภายภาพบบำบัด พยาบาลระบบประสาท และอื่นๆ เพื่อร่วมกันวางแผนการการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การผ่าตัด

          ส่วนใหญ่เนื้องอกสมองจำเป็นต้องใช้วิธีการการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกสมองออก ถ้าเป็นไปได้ ศัลยแพทย์จะพยายามเอาก้อนเนื้องอกออกให้หมด เพราะถ้าเป็นเนื้องอกสมองชนิดธรรมดาแล้ว การผ่าตัดเอาเนื้องอกสมองออกหมดหมายถึงสามารถรักษาให้หายขาด โอกาสกลับมาเป็นอีกน้อยมาก อย่างไรก็ตามถ้าอันตรายเกินไปในการเอาเนื้องอกออกทั้งหมด ศัลยแพทย์อาจพิจารณาเหลือก้อนเนื้องอกสมองบางส่วนเอาไว้ แล้วรักษาด้วยวิธีการให้คีโมหรือฉายแสงต่อไป ในบางครั้ง ก้อนเนื้องอกอาจอยู่ในส่วนลึกของสมอง การทำผ่าจัดเอาก้อนเนื้องอกสมองออกอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อสมอง แพทย์อาจพิจารณาทำการสอดเข็มเพื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ซึ่งอาจทำได้อย่างแม่นยำโดยใช้ระบบนำวิถี (navigator system) ชิ้นเนื้อที่ได้นี้ จะถูกส่งห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ดูเซลของเนื้องอก จะได้วางแผนในการรักษาขั้นต่อไป

การให้รังสีรักษา

          การให้รังสีรักษา หรือที่มักเรียกกันว่าการฉายแสง คือการใช้รังสีที่เข้มข้นในการทำลายเซลเนื้องอก หรือเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของเซลเนื้องอก หรือบ่อยครั้งที่ใช้กับเนื้องอกสมองที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด การให้รังสีรักษานี้ต้องให้เป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจใช้เวลาเป็นหลายสัปดาห์กว่าที่เซลเนื้องอกจะเริ่มตาย แต่หลังจากนั้นเซลเนื้องอกก็จะตายหรือหยุดการเจริญเติบโตต่อไปเป็นเดือนๆหรือเป็นปีหลังการให้รังสีรักษา ปัญหาหลักของการให้รังสีรักษาก็คือ เราไม่สามารถฉายรังสีไปที่เนื้องอกโดยไม่โดนเนื้อเยื่อปกติที่อยู่รอบๆเนื้องอกได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันเกิดมาจากเนื้อเยื่อปกติที่อยู่บริเวณใกล้คียงได้รับรังสีร่วมไปด้วย ได้แก่ ภาวะสมองบวม ผมร่วง ผิวหนัง(ศีรษะ)แห้งและคัน ภาวะสมองเสื่อม (ความคิดอ่านและความจำเสื่อมลง) อารมณ์และพฤติกรรมแปรปรวน ภาวะเหนื่อยและอ่อนแรง เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจเกิดตั้งแต่เริ่มฉายรังสี หรือเกิดตามมาในภายหลังก็ได้ (มักเริ่มเกิด 2-3 สัปดาห์หลังเริ่มการฉายรังสี) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ความเข้มของรังสีที่ใช้ ความถี่ของการฉายรังสี หรือสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มักจะค่อยๆดีขึ้นหลังหยุดการฉายรังสีไปประมาณ 3-4 สัปดาห์

การให้เคมีบำบัด

          การให้เคมีบำบัด หรือที่มักเรียกกันว่า คีโม คือการให้ยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลมะเร็ง ยาเคมีบำบัดนี้จะไปแทรกแซงวงจรชีวิต (life cycle) ของเซล เซลมะเร็งเป็นที่มีวงจรชีวิตสั้น มีการแบ่งตัวเร็ว ยาเคมีบำบัดจึงมีผลต่อเซลมะเร็ง ทำให้เซลมะเร็งถูกทำลายไปได้ อย่างไรก็ตาม เซลร่างกายปกติที่มีวงจรชีวิตสั้น มีการแบ่งตัวเร็วก็จะโดนผลกระทบไปด้วย ที่สำคัญได้แก่ ไขกระดูกที่สร้างเซลเม็ดเลือด ทำให้เซลเม็ดเลือดแดงมีจำนวนลดลง (เกิดภาวะโลหิตจาง) เซลเม็ดเลือดขาวลดลง (เกิดภาวะภูมิต่ำ ติดเชื้อง่าย) และเกล็ดเลือดต่ำ (เกิดภาวะเลือดออกง่าย); เซลที่บุผนังทางเดินอาหาร (ทำให้เกิดแผลในปาก ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน) และเซลต่อมขน (ทำให้ผมร่วง) โดยทั่วไปแล้ว การให้เคมีบำบัดจะให้เป็น cycle โดยจะมีระยะพักระหว่าง cycle เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้ การให้เคมีบำบัดอาจให้ทางปาก ทางหลอดเลือดดำ ทางน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (โดยผ่านทางการเจาะหลัง) หรือให้ไปที่เนื้องอกสมองโดยตรงในระหว่างการผ่าตัดก็ได้ การให้เคมีบำบัดในเนื้องอกสมองนี้ ไม่ใช่เป็นการรักษาเพื่อให้หายขาด แต่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นได้ ในบางรายสามารถอยู่ต่อได้อีกหลายปีแม้จะเป็นมะเร็ง

 

บทสรุป

          เนื้องอกสมอง หมายถึงการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเนื้อเยื่อสมองเอง หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียงกับสมองก็ได้ เช่น เยื้อหุ้มสมอง, กะโหลกศีรษะ จนเกิดเป็นก้อนซึ่งส่งผลต่อการทำงานปกติของสมอง เนื้องอกสมองมีมากมายหลายชนิดขึ้นอยู่ชนิดของเซลเนื้องอกที่เป็น สามารถรักษาได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้รังสีรักษา(ฉายแสง) การให้เคมีบำบัด(คีโม) หรือใช้หลายๆวิธีร่วมกัน ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมองร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์สหสาขาวิชาชีพจะวางแผนร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

 

“อย่างไรก็ดีเนื้องอกในสมองเป็นอาการที่พบได้ไม่ว่าจะเพศใดหรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อเป็นเนื้องอกในสมองแล้ว ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆและควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ตื่นตระหนกและกังวลมากจนเกินไป”

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นพ.สุทธิกร ตัณฑ์ไพโรจน์

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท

ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคสมองและระบบประสาท | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคสมองและระบบประสาท

โทร 052 089 888 Call Center: 1719 

" เปิดให้บริการทุกวัน  เวลา 08.00 – 16.00 น. "