เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักกับโรคปวดหัวไมเกรน และบางคนอาจกำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ก็เป็นได้ ไมเกรนเป็นโรคปวดหัวชนิดหนึ่งที่มีอาการปวดเป็นพัก เป็นๆ หายๆ มักมีอาการปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งอยู่ที่ 4-72 ชั่วโมง และประมาณ 1 ใน 5 จะมีอาการนำก่อนปวด (Aura)  คือ มองเห็นแสงวาบคล้ายแสงแฟลช ตาจะมีมองไม่เห็นชั่วครู่ หรือมีอาการชาที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 5-30 นาทีก่อนที่จะเริ่มปวดหัวไมเกรน และเมื่อมีอาการปวดหัวไมเกรนจะทำให้ปวดหัวอย่างรุนแรง มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง บางครั้งอาจมีอาการปวดแบบตุบๆ เป็นจังหวะร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ทั้งไวต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแสงจ้า เสียงดัง หรือ กลิ่นฉุน และบางครั้งอาจรุนแรงมากจนถึงขั้นต้องหยุดงานนอนพักกันเลยทีเดียว

 

ไมเกรน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โรคปวดหัวไมเกรนเกิดจากอะไรบ้าง

  • ความเครียด
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น แสงกระพริบ กลิ่นที่รุนแรง เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม
  • การทานอาหารบางชนิด เช่น ชีส โยเกิร์ต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือ แอลกอฮอล์
  • ระดับฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะช่วงเป็นประจำเดือน

นอนไม่พอ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ชวนเช็กอาการของโรคปวดหัวไมเกรน

  1. มีอาการปวดหัวมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง โดยมีลักษณะในข้อ 3 และ 5 ร่วมด้วย
  2. มีประวัติเป็นโรคปวดหัวไมเกรน
  3. มีอาการเวียนหัวบ้านหมุนระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง นานตั้งแต่ 5 นาที จนถึง 3 วัน
  4. อาการไม่เข้ากับโรคปวดหัวหรือโรคเวียนหัวประเภทแบบอื่น
  5. ครึ่งหนึ่งของอาการเวียนหัวที่เกิดขึ้น จะต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
    1. มีลักษณะปวดหัวตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป ดังนี้
      • ปวดข้างเดียว
      • ปวดตุบๆ
      • ปวดรุนแรงปานกลาง จนถึงปวดมาก
      • อาการปวดเพิ่มขึ้นเมื่อขยับร่างกาย
    2. รู้สึกไวต่อแสงและเสียง
    3. อาการผิดปกติทางการมองเห็น เช่น เห็นภาพซิกแซก แสงกระพริบ แสงเป็นจุดๆ

ปวดหัว - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

รู้จัก 4 ระยะของการเกิดโรคปวดหัวไมเกรน

  1. ระยะเตือนล่วงหน้า (Premonitory)

ระยะนี้จะเป็นสัญญาณเตือนกับผู้ป่วยว่ากำลังจะเริ่มเป็นไมเกรนแล้ว โดยระยะนี้อาจเกิดนำมาก่อนอาการปวดหัวหลายชั่วโมงหรือหลายวัน เช่น

    • เรี่ยวแรงในการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งในแบบเพิ่มขึ้นหรือลดลง
    • ความรู้สึกอยากอาหารเปลี่ยน และอาจจะอยากอาหารบางประเภทเป็นพิเศษ
    • อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยน
    • ระดับสมาธิลดลง
    • รู้สึกเหนื่อยล้า บางคนหาวบ่อยจนผิดปกติ
    • ปัสสาวะบ่อยครั้ง
    • ท้องผูก
    • รู้สึกตึงที่คอ
    • รู้สึกไวต่อแสงและเสียงมากกว่าปกติ
    • คลื่นไส้ ตามัว
  1. ระยะอาการนำ Aura หรือสัญญาณออร่า

เป็นอาการที่มักเกิดก่อนปวดหัวไมเกรน โดยพบระยะนี้เพียง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด สัญญาณออร่าจะกินเวลาที่   5 นาที ถึง 1 ชั่วโมง มีอาการเกิดหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการผิดปกติทางการมองเห็น ความรู้สึก การพูด และอาจพบว่ามีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

  1. ระยะปวดศีรษะ (Attack)

เป็นระยะที่สร้างความปวดและทรมานกับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ระดับความปวดเริ่มจากปานกลางจนถึงรุนแรงมาก  โดยกินเวลาที่ 4 ถึง 72 ชั่วโมง และมีอาการปวดตั้งแต่

    • ปวดตุบๆ ที่ขมับข้างใดข้างหนึ่งแล้วต่อมากลายเป็นปวดทั้งสองข้าง หรือย้ายข้างปวด
    • คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งอาการปวดอาจดีขึ้นหลังอาเจียน
    • มีความรู้สึกไวต่อแสง ไวต่อเสียง ไวต่อกลิ่นมากกว่าปกติ
    • เวียนหัวคล้ายจะเป็นลม ตามัว
    • ปวดบริเวณใบหน้า มักเริ่มปวดเหนือเบ้าตา และสามารถปวดลงมาถึงบริเวณใบหน้า แก้วตาและคอ
  1. ระยะหายจากการปวด (Postdrome)

เป็นระยะที่ผู้ป่วยหายปวดหัวแล้ว แต่ยังคงรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง เป็นระยะที่อาการค่อนข้างหลากหลายและมีความเฉพาะตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละคน อาการต่างๆ อาจจะสัมพันธ์กับไมเกรนหรือยารักษาไมเกรน ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยอาการ “เพลีย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า สมาธิลดลง” และอาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะดีขึ้น

 

หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงจะเห็นได้ชัดแล้วว่าโรคปวดหัวไมเกรนไม่เพียงแต่ทำให้เกิดอาการปวดหัว แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือสภาพจิตใจ บางคนอาจไม่สามารถเข้าสังคมได้เช่นเดิม ทั้งส่งผลกระทบต่อการงาน-การเรียน กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา และทั้งหมดนี้อาจก่อให้เกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้าได้ ดังนั้นหากเริ่มรู้ตัวและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ คลิกที่นี่เพื่อนัดหมายปรึกษาแพทย์

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

พญ.ขนิษฐา สุวรรณศรีนนท์

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท

ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคสมองและระบบประสาท | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร 052 089 888  หรือ Call Center: 1719