หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ภาวะบางอย่างเช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ ในช่วงแรกหัวใจจะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้เลือดยังคงไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่เมื่อต้องทำงานมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเริ่มอ่อนแอลง ทำให้การสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มที่ เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ปอด: อาจเกิดภาวะน้ำคั่ง ทำให้หายใจลำบาก
ไต: อาจมีเลือดมาเลี้ยงน้อยลง ทำให้ขับปัสสาวะไม่ได้ เกิดน้ำคั่งในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ข้อเท้า และเท้า: มีอาการบวมจากภาวะน้ำเกิน
โรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานได้ไม่ปกติ ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายเวลาที่ทำงาน หรือทำกิจกรรมตามปกติ
เมื่อท่านสงสัยว่าอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที
- มีอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณเท้า หรือข้อเท้า
- เหนื่อยง่ายผิดปกติ หรือเหนื่อยเวลานอนราบ
- แน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอก
- ใจสั่น
อาการใจสั่น หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาการใจสั่น เป็นภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและการเสียชีวิต มักเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึง การที่หัวใจมีจังหวะการเต้นที่ต่างไปจากเดิม อาทิเช่น เร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือไม่สม่ำเสมอ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หน้ามืด เป็นลมหมดสติ อัมพฤกษ์ หรืออัมพาต หัวใจวาย จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างร้ายแรง
ผู้ที่มีอาการใจสั่นควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าจะเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดใด โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และตรวจพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น เช่น การตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ การตรวจหัวใจขณะออกกำลังกาย และการติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมงโดยเครื่องชนิดพกพา
ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน แพทย์สามารถรักษาและควบคุมภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะโดยการใช้ยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ
นพ.สัจธรรม สุทธิวุฒิชัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด
ใบอนุญาตเลขที่ ว.21128
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
หมายเลขโทรศัพท์ 052-089-776