ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง
เรอบ่อย ปวดท้อง
แสบร้อนกลางอก กลืนลำบาก
มีลมในท้อง หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด
อ่อนเพลีย
หากคุณกำลังมีอาการข้างต้น นั่นหมายความว่า คุณอาจกำลังเผชิญอยู่กับอาการโรคกระเพราะอาหาร หรือโรคกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมของชาวออฟฟิศในปัจจุบัน! ซึ่งถ้าปล่อยเรื้อรังอาจนำมาสู่อันตรายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว!
หนุ่มสาวชาวออฟฟิศย่อมทราบดีว่า การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร จะสามารถลดอาการโรคกระเพาะอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เลิกสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ให้ความระมัดระวังในการรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยากลุ่ม NSAID อาทิ แอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ และยาชุด เป็นต้น รวมไปถึงการลดความเครียดก็มีส่วนช่วยให้อาการข้างต้นทุเลาไปได้มาก
แต่ที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่ทราบว่า สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของโรคกระเพราะอาหารและกรดไหลย้อน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร” (Helicobacter Pylori) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า เอชไพโลไร (H. Pylori)
Helicobacter Pylori เป็นแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารของมนุษย์ มีการรายงานเชื้อนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 เชื้อตัวนี้จะไปสร้างกรดปริมาณมากขึ้นในกระเพาะอาหาร ผ่านการหลั่งฮอร์โมนแกสตริน (Gastrin) กระตุ้นการคัดหลั่งของน้ำย่อยกระเพาะอาหารให้มากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลโรคกรดไหลย้อน รวมไปถึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิด “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ได้ในที่สุด
การติดต่อ
จากการศึกษาปัจจุบันยังหาสาเหตุของการติดเชื้อ H. Pyloriได้ไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากการสัมผัสเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผ่านทางการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น อาหารและน้ำที่ไม่สะอาด อาหารแช่งแข็งที่ปรุงไม่สุก อาหารดิบ
คนที่ติดเชื้อตัวนี้ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ มีเพียง 20% เท่านั้นที่มีอาการ (ปวดท้องกระเพาะเรื้อรัง จุกลิ้นปี่ แสบร้อนท้อง แก๊สมาก)
10% ของคนที่ติดเชื้อตัวนี้ ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
1-3 % ของคนที่ติดเชื้อตัวนี้ เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารชนิด มะเร็งชนิดต่อม (Adenocarcinoma)
แพทย์จึงมักแนะนำให้รีบตรวจหาเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เพื่อรักษาแต่เนิ่น เพราะยิ่งพบเชื้อเร็ว ยิ่งง่ายต่อการรักษา คือ สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะคู่กับยาโรคกระเพาะอาหาร ตามคำสั่งแพทย์ เป็นการประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงอื่นๆ
ถ้าเอชไพโรไลสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยง และควรเข้ารับการตรวจเชื้อร้ายชนิดนี้?
- ชอบรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนต่างๆ
- พบรอยโรคว่ามีกระเพาะอาหารอักเสบ โดยเฉพาะอาการโรคกระเพาะที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา รวมทั้งโรคกรดไหลย้อน
- พบรอยโรคว่ามีแผลที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
- จำเป็นต้องรับประทาน แอสไพริน หรือ ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) คนทั่วไปมักเรียกว่า “ยาแก้ปวดข้อ” หรือ “ยาแก้ข้ออักเสบ” เป็นระยะยาว
- มีประวัติผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารในครอบครัว
หากไม่รักษาแต่เนิ่นๆ เชื้อเอชไพโลไร อาจนำไปสู่โรคอะไรได้บ้าง?
- กระเพาะอาหารอักเสบ
- แผลในกระเพาะอาหาร และแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น
- มะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีเชื้อเอชไพโลไร อยู่ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารชนิด Adenocarcinoma เป็น 2 เท่า
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Extranodal marginal zone B-cell ในกระเพาะอาหาร
- โรคอื่นที่พบนอกกระเพาะอาหาร เช่น โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก / ขาดวิตามินบี 12 / โรคเกล็ดเลือดต่ำ (Idiopathic Thrombocytopenic Purpura หรือ ITP) เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง (autoimmune disease)
วิธีตรวจหาเชื้อ เอชไพโลไร (H. Pylori) สามารถทำได้ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง?
- การเป่าลมหายใจ และวัดหาระดับยูเรีย* (Urea Breath Test) มีสมรรถภาพ (ความไว) 88-95%
- การส่องกล้องทางเดินกระเพาะอาหารส่วนบนเพื่อตัดชิ้นเนื้อ (Gastroscope with biopsy urease test)
- การตรวจอุจจาระ* (Stool Antigen Assay) มีสมรรถภาพ (ความไว) 85-95%
- ตรวจจากเลือด (Serology Test) มีสมรรถภาพ (ความไว) 70-90 %
ด้วยความปรารถนาดีจาก
อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร
บทความที่เกี่ยวข้อง