พญ. ชัชฎาภรณ์ โตวรกุล

                           

Gen B หรือ Baby Boomer เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายต้องการการตรวจคัดกรองภาวะเสื่อมของอวัยวะในร่างกาย เพื่อให้พบเจอความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ และเตรียมตัวดูแลรักษาได้ทันการณ์ ลดภาวะการนำไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ ได้

เป็นที่น่าเสียดายว่า คนไทยส่วนใหญ่ มักตรวจพบมะเร็งช้าไป มักพบในระยะท้ายๆ ของตัวโรคแล้ว มักไปตรวจเมื่อมีอาการเท่านั้น เป็นเหตุให้พบมะเร็งขนาดใหญ่ หรือ ระยะลุกลามแล้ว

แต่แท้จริงแล้ว เราสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ตั้งแต่ยังไม่มีอาการใดใดทั้งสิ้น เพียงเมื่อพบติ่งเนื้อขนาดเล็กที่เรียกว่า Polyp ซึ่งสามารถตัดทิ้งแต่ต้น ก็จะลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

สำหรับประเทศไทย มะเร็งลำไส้พบเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมด มีรายงานสถิติ จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2547 พบว่า เป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์ สูงเป็นลำดับ 3ในผู้ชาย และลำดับ 5 ในผู้หญิง โดยมีอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป และเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าลำไส้ตรง

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงและควรตรวจมะเร็งลำไส้

  1. อายุมากกว่า 50 ปี
  2. มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ในครอบครัว หรือ ติ่งเนื้อในครอบครัว
  3. มักรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยง เช่น อาหารที่ไขมันสูง เนื้อแดง ไฟเบอร์ต่ำ (Low-fiber, high-fat diet.)
  4. ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เรื้อรัง
  5. คนอ้วน น้ำหนักตัวมาก
  6. คนไข้ที่มีประวัติ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)

 

หากมีอาการเหล่านี้ให้สังเกตตนเอง ว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ได้

- ท้องผูก สลับท้องเสีย

- ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน

- ปวดท้องเรื้อรัง อืดแน่นท้อง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

- คลำได้ก้อนในท้อง

- อุจจาระลำเล็กลง

- ถ่ายอุจจาระไม่สุด เหมือนมีอะไรค้างที่รูทวาร

- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

หากรู้สึกว่ามีพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งได้ด้วยวิธีต่างๆ  คลิกเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

 

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็ง

  1. การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด [standrad]
  2. การตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ (Digital Rectal Examination, DRE) ปีละ 1 ครั้ง
  3. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test, FOBT), FIT (fecal immunochemical test) ปีละ 1 ครั้ง
  4. การตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก Flexible Sigmoidoscopy ทุก 5 ปี
  5. การตรวจโดยการสวนสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนักและใส่ลมเข้าไปเป็นบางช่วงเพื่อการตรวจเอกซเรย์พิเศษทางรังสีของลำไส้ ใหญ่ (Double-Contrast) ทุก 5-10 ปี

 

อย่างไรก็ตาม การปรับพฤติกรรมโดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาว Gen B เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและชะลอความเสื่อมในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer Screening Program)

  1. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดง อาหารไม่มีประโยชน์ไม่มีคุณภาพทางโภชนาการ ให้พลังงานสูงมากเกินไป (Junk Food)
  2. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่
  3. คุมน้ำหนักตัวให้ปกติ
  4. รับประทานอาหารที่มีกากใย และดื่มน้ำวันละ 1-1.5 ลิตร เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก
  5. หมั่นสังเกตุอุจจาระ

 

แพทย์หญิง ชัชฎาภรณ์ โตวรกุล 

อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร

แผนกระบบทางเดินอาหารและตับ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง