การออกกำลังกายทำให้มีความสุขจริงหรือ แล้วมีความสุขได้อย่างไร
การออกกำลังกายทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้ ผ่านกลไก 3 อย่าง ดังต่อไปนี้
- การออกกำลังทำให้สารแห่งความสุขที่ชื่อว่า Endorphins หลั่งออกมา สารนี้มีประโยชน์ทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวจากความเครียดคลายลง ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยทำให้การนอนดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดฮอร์โมนแห่งความเครียดที่มีชื่อว่า Cortisol ลง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เองที่เป็นสาเหตุแห่งความชราของคนเรา
- การออกกำลังกายทำให้สารเคมีในสมองที่จำเป็นต่อการควบคุมอารมณ์ อยู่ในภาวะสมดุล ส่งผลให้เรามีอารมณ์ปกติ
- การออกกำลังกายส่งผลต่อจิตใจโดยตรง โดย
- ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าเราก็ทำได้ กระตุ้นให้เรารู้สึกอยากทำต่อไป
- เบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากเรื่องที่ทำให้เราเครียด การยิ่งคิดวนกับเรื่องที่เครียดจะยิ่งทำเครียดมากขึ้น การได้ออกจากความคิดวกวนเหล่านั้นไปให้ความสนใจกับร่างกาย การวางตำแหน่งของร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกาย ก็จะทำให้เราตัดวงจรความเครียดลงได้
- การออกกำลังกายทำให้เราได้พบปะผู้คนมากขึ้น เวลาเครียดคนเรามีแนวโน้มที่จะเก็บตัวอยู่คนเดียวซึ่งจะทำให้ความเครียดเพิ่มมากขึ้น การได้ออกไปออกกำลังกายได้เจอผู้คนจะทำให้ดีขึ้นได้ เช่น ออกไปเดินเล่นแถว ๆ บ้าน ได้ส่งยิ้มให้ผู้คนที่เดินผ่านบ้างก็จะทำให้อารมณ์ดีขึ้น
- การออกกำลังกายเป็นการจัดการความเครียดที่ดี ทำให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ
เวลาเครียด ๆ จะไม่อยากทำอะไรเลย ทำอย่างไรถึงจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายได้
- เรียนรู้ก่อนว่า เราเหมาะกับการออกกำลังกายแบบไหน ถ้ายังไม่รู้ก็ลองหลาย ๆ อย่างเพื่อให้รู้ว่าเราชอบอะไร
- กำหนดวันว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ (ถ้าไม่กำหนดก็จะผลัดไปเรื่อย ๆ)
- บอกเพื่อนหรือคนรอบข้างให้รู้ว่าเรากำลังเริ่มออกกำลังกาย เป็นการให้คำมั่นสัญญา (commitment) ต่อตนเอง
- เตรียมตัวหาอุปกรณ์ และสถานที่ที่จะไปออกกำลังกาย
- กำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ของการออกกำลังกาย
- กำหนดให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของตารางชีวิต เหมือนกับที่ต้องไปทำงานหรือไปทำธุระ ถือว่าการออกกำลังกายเป็นธุระใหญ่ในการดูแลตนเอง
เมื่อออกกำลังกายไปได้สักระยะแล้วเกิดอาการขี้เกียจ เบื่อ ไม่อยากทำแล้ว จะทำอย่างไรดี
- พอออกกำลังกายไปได้สักพัก เราจะรู้ว่าอะไรจะเป็นอุปสรรคของเราบ้าง ก็หมั่นทบทวน ป้องกัน แก้ไข อุปสรรคนั้น ๆ เช่น เวลาฝนตกแล้วจะไม่ได้ออกไปวิ่ง ก็อาจจะแก้ด้วยการวิ่งบนลู่วิ่งในโรงยิมแทน เป็นต้น
- หมั่นทบทวนเป้าหมายของเราเสมอ ว่าออกกำลังกายไปเพื่ออะไร ออกแล้วดีกับตัวเองและคนรอบข้างที่เรารักอย่างไร
พญ.อมรพิชญ์ กิตติพจนสิทธิ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์
ใบอนุญาตเลขที่ ว.38702
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
หมายเลขโทรศัพท์ 052-089-865