ภายใต้ชีวิตประจำวันอันแสนสุข รอยยิ้มเวลาพบกับคนที่คุณรัก การเดินทางจากที่หนึ่งสู่ที่หนึ่ง
ความสำเร็จจากหน้าที่การงานและโอกาสอันดีในอนาคตที่จะตามมา


คุณเคยเงี่ยหูฟังเสียง
ติ๊กต่อกในตัวคุณหรือเปล่า?


ใครบางคนอาจมีระเบิดเวลาซุ่มทำงานอยู่เงียบๆ รอวันจะสำแดงตนออกมา ในเวลาที่คุณก็ไม่คาดคิด
!
ระเบิดเวลาชนิดนี้วงการแพทย์เรียกว่า “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง” มีอำนาจการทำลายล้างสูง
เป็นเหตุให้
มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50% เลยทีเดียว!

ข่าวร้ายเล็กๆ สำหรับคุณผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ก็คือระเบิดเวลาชนิดนี้อาจมีโอกาสแฝงอยู่ในตัวคุณมากกว่าผู้ชายที่อายุเท่ากัน ในอัตราส่วน 1.6:1 อย่างไรก็ดี โดยรวมถือว่า โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับผู้มีอายุระหว่าง 40-60 ปี  โดยมีสาเหตุมาจากผนังหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงสมองบางลงอาจเนื่องจากความเสื่อมของหลอดเลือด มีไขมันมาเกาะร่วมกับความดันโลหิตสูงที่ผนังหลอดเลือดถูกแรงดันกระแทกอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้ผนังหลอดเลือดที่บางอยู่ถูกดันให้โป่งเป็นกระเปาะออกมาเปรียบได้กับลูกโป่งที่ถูกเป่าจนใหญ่ เสี่ยงที่จะแตกได้ เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกในสมอง (Rupture Aneurysm) จะทำให้มีเลือดออกในสมองรุนแรงเป็นเหตุให้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ในทางกลับกัน การตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งพองก่อนที่จะแตก จะมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 2-3% เท่านั้น

แล้วคุณ คือ กลุ่มเสี่ยงหรือไม่?

แม้ว่าความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดโป่งพองในสมองขึ้นอยู่กับ ขนาด, ตำแหน่ง, รูปร่าง, อายุและเพศของคนไข้ รวมถึงสุขภาพและประวัติครอบครัว แต่หากคุณมีไลฟ์สไตล์หรือมีโรคประจำตัวเหล่านี้ คุณเองอาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหลอดเลือดสมองโป่งพองได้เช่นกัน

  • สูบบุหรี่
  • ดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากเป็นประจำ
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • มีระดับไขมันในหลอดเลือดสูง
  • รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ

 

ลองฟังสัญญาณเตือนในตัวคุณ?

โดยทั่วไป เพชฌฆาตเงียบรายนี้จะไม่กระโตกกระตากแสดงอาการแต่อย่างใด ต่อเมื่อเส้นเลือดแตกแล้ว จึงจะสำแดงอาการอย่างรุนแรงและฉับพลัน กล่าวคือ ปวดศีรษะมากอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน หรือเหมือนศีรษะจะระเบิด คอแข็ง บางรายจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ถ้ามีอาการหนักจะซึมลง หมดสติ จนกระทั่งหยุดหายใจได้

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตก

เมื่อตรวจพบว่ามีหลอดเลือดโป่งพองในสมองแตก หลักการในการรักษา คือ การตัดกระแสเลือดไม่ให้ไหลเข้าไปในกระเปาะของหลอดเลือดสมองโป่งพอง

  1. การผ่าตัดเข้าไปหนีบหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Microsurgical Clipping) เป็นวิธีที่ใช้เป็นส่วนใหญ่
  2. การแยงสายเข้าไปในเส้นเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization) ใช้ในบางกรณีที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นสำคัญ

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ยังไม่แตก

แพทย์จากสหสาขาวิชาชีพ (ศัลยแพทย์ระบบประสาทร่วมกับรังสีแพทย์) จะประชุมกันเพื่อเลือกแนวทางการรักษา และพิจารณาวิธีที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแนวทางการรักษามี 3 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดเข้าไปหนีบหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง (Microsurgical Clipping)
  2. การแยงสายเข้าไปในหลอดเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization)
  3. ในกรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดเล็ก (< 7) มีโอกาสในการแตกต่ำมาก จะใช้วิธีตรวจติดตามด้วยเครื่องตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA) เป็นระยะๆ และเมื่อพบว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะทำการรักษา

แม้ว่าโรคนี้จะมีอันตรายมากเพียงใด แต่เราก็สามารถ “ถอดสลักระเบิดเวลา” ของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ไม่ยาก ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ควบคุมปัจจัยเสี่ยงและตรวจรับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง แต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถได้รับการรักษาตั้งแต่แรกจนบรรเทาและปลอดภัย ตลอดจนลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นพ.สุทธิกร ตัณฑ์ไพโรจน์

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่