บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินสาวๆ บ่นกันติดปากว่า “อ้วนน..น” และพากันตั้งอกตั้งใจลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ จนกลายเป็นที่มาของเทรนด์สุขภาพยอดฮิต ไม่ว่าจะเป็นการกินคลีน, กินคีโตเจนิค ไดเอต (Ketogenic Diet), การงดกินกลูเต็น (Gluten Free Diet), การอดอาหารแบบ Intermittent Fasting, การออกกำลังแบบ T25, การวิ่งมาราธอน, หรือการเล่นพิลาทิสเพื่อรักษารูปร่าง นั่นก็เพราะสายสุขภาพและสายแฟชั่นพากันประสานเสียงว่า เจ้า “ความอ้วน” นี้ เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพและความงามนั่นเอง!

สำหรับทางการแพทย์แล้ว ผู้ที่ถือได้ว่ามีอาการของ “โรคอ้วน” (obesity) คือ ผู้มีสภาวะของร่างกายที่มีการสะสมไขมันในประมาณที่ผิดปกติ หรือมากกว่าปกติ จนมีผลกระทบต่อสุขภาพ  (WHO,  2013) ซึ่งถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูงและอื่นๆ ทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากงานวิจัยต่างๆ ระบุตรงกันว่า โรคอ้วนเป็นหนึ่งในสาเหตุให้คนเรามีอายุขัยสั้นลงได้ราว 5-20 ปีเลยทีเดียว

เราต่างรู้กันดีว่า การลดความอ้วนเป็นเรื่องไม่ง่ายเอาเสียเลย และหากต้องการลดความอ้วนอย่างยั่งยืนก็อาจต้องใช้ความพยายามเป็นระยะเวลาหลายปี จึงมักพบว่าหลายคนถอดใจไปเสียก่อนที่จะเห็นผล หรือไม่ก็กลับมาอ้วนแล้วอ้วนอีกแบบ โยโย่ เอฟเฟกต์ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่แพ้กัน โชคดีที่วิทยาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วนมีทางเลือกในการลดความอ้วนอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้วย การผ่าตัดกระเพาะอาหาร แบบ Bariatric Surgery ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นหนึ่งในวิธีช่วยเหลือผู้มีภาวะโรคอ้วนให้กลับมามีน้ำหนักปกติได้อย่างยั่งยืน จากข้อมูลของ The American Society for Metabolic and Bariatric Surgery (ASMBS)  พบว่าการผ่าตัดประเภทนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะในหมู่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากการผ่าตัดดังกล่าว สร้างรอยแผลขนาดเล็ก ผู้ป่วยจึงไม่เจ็บปวดมาก มีอาการข้างเคียงน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 3-4 วันหลังการผ่าตัด

นอกจากจะทำให้น้ำหนักลดลงอย่างยั่งยืนแล้ว การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคเบาหวาน รวมไปลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกด้วย  (J Intern Med 2013;273:219-234)

จากการศึกษา Swedish Obese Subjects (SOS) ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นการศึกษาแบบการวิจัยไปข้างหน้า คณะผู้วิจัยสรุปว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารวิธีนี้ สามารถช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคอ้วนรวม “จากทุกสาเหตุ” ซึ่งเป็น primary endpoint ของการศึกษาได้ 29% จากการติดตามเป็นเวลา 10.9 ปี (N Engl J Med 2007;357:741-752) จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนี้ได้ผลจริงและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาแบบย้อนหลังอีกหลายชิ้น รวมทั้งผลการวิเคราะห์แบบ Meta-analysis ที่บ่งชี้ตรงกันว่า “การผ่าตัดกระเพาะอาหารสัมพันธ์กับการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคอ้วนรวมจากทุกสาเหตุในการติดตามระยะยาว” ได้ถึง 41% (Diabetes Obes Metab 017;19:1223-1232)

 

กระนั้นที่สุดแล้ว “ความไม่อ้วน” ก็เป็นลาภอันประเสริฐ!

เราจึงมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนักกำหนดอาหาร ให้เลือกรับประทานอาหาร 5 หมู่อย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ หมั่นออกกำลังกาย เพื่อเป็นการป้องกันโรคอ้วนซึ่งดีกว่าการลดความอ้วนเอาภายหลัง เพราะจากข้อมูลการศึกษาแบบย้อนหลังเมื่อเร็วๆ นี้ แม้ว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารโดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุยืนกว่าผู้ป่วยโรคอ้วนที่ไม่ได้รับการผ่าตัด ถึง 3 ปี (95% CI 1.8-4.2) แต่ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มประชากรที่มีน้ำหนักมาตรฐานโดยทั่วไปที่ไม่เป็นโรคอ้วนอยู่นั่นเอง (Gastroenterology 2019;157:119-127.e1)

คณะผู้ทำการวิจัยมีความประสงค์จะศึกษาอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคอ้วนที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบ Bariatric Surgery เปรียบเทียบกับ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนที่ไม่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร และเปรียบเทียบกับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีภาวะโรคอ้วน* โดยได้มีการติดตามอาสาสมัคร 3 กลุ่ม ในการศึกษาเป็นเวลาเฉลี่ย 24 ปี ได้แก่

  1. กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร จำนวน 2,007 ราย มีการติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 24 ปี
  2. กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนที่ไม่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร จำนวน 2,040 ราย คือ กลุ่มควบคุม มีการติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 22 ปี
  3. กลุ่ม ประชากรทั่วไป จำนวน 1,135 ราย คือ กลุ่ม Reference Cohort (มี body mass index [BMI] เฉลี่ย 2 ± 3.8 กลุ่มนี้ไม่มีภาวะโรคอ้วน) มีการติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 20 ปี

คณะวิจัยพบว่า จากการติดตามมีผู้ป่วยในกลุ่มที่ 1 ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบ Bariatric Surgery ระหว่างการติดตาม เสียชีวิตจำนวน 457 ราย (คิดเป็น 22.8%) ส่วนกลุ่มที่ 2 ผู้ที่ไม่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เสียชีวิตจำนวน 539 ราย (คิดเป็น 26.4%) คิดเป็น hazard ratio 0.77 (95% confidence interval [CI] 0.68-0.87; p<0.001)  แต่เมื่อมาดูสาเหตุแห่งการเสียชีวิตจากโรค พบว่ามีการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งน้อยกว่ากลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มที่ไม้ได้รับการผ่าตัดกระเพาะ คิดเป็น hazard ratio 0.70 (95% CI 0.57-0.85) และ hazard ratio 0.77 (95% CI 0.61-0.96) ตามลำดับ

จากการศึกษานี้ พบสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดจากการศึกษานี้ คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด (388 ราย จากการเสียชีวิตรวม 996 ราย) และ โรคมะเร็ง (301 ราย) จะเห็นว่ากลุ่มที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบ Bariatric Surgery มีการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญ (167 รายเทียบกับ 221 ราย; hazard ratio 0.70) โดยมีการลดลงของ Myocardial Infarction (MI) (hazard ratio 0.51; 95% CI 0.33-0.79) ลด ภาวะหัวใจล้มเหลว (hazard ratio 0.52; 95% CO 0.31-0.88) และลดการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง (hazard ratio 0.45; 95% CI 0.24-0.84) รวมทั้งเห็นการลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้อย่างชัดเจน (135 รายเทียบกับ 165 รายในกลุ่มควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

แต่ต้องระวังว่ากลุ่มผู้ป่วยในการศึกษานี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนอ้วนทั่วไป และมีทั้งผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ดังนั้นข้อมูลนี้จึงไม่อาจนำไปประยุกต์กับผู้ที่มีเฉพาะโรคอ้วนได้ไม่แม่นยำแบบ 100% อีกทั้ง ข้อจำกัดของการศึกษานี้ คือไม่ได้เป็นการออกแบบการศึกษาแบบ Randomize เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านจริยธรรม เทคนิคการผ่าตัดและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องได้เปลี่ยนไปจากสมัยที่เริ่มทำการศึกษา แต่ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาก็อาจไม่ต่างกันมากนัก

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียด การผ่าตัดกระเพาะอาหาร แบบ Bariatric Surgery

แผนกระบบทางเดินอาหารและตับ

โทร 052 089 782