เทรนด์ใหม่! การดูแล 'ความหวาน' ตลอด 24 ชั่วโมง!

วันนี้เรามีโอกาสได้พบ นพ. ธีรเจต กิตติภูมิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ก็เลยขออัพเดตเทรนด์ใหม่สำหรับสุขภาพปีนี้ เพราะเท่าที่สังเกตเห็นก็พบว่าคนรอบตัวเราต่างก็จะทานหวานลดลง ร้านกาแฟ ร้านชามุกดัง ๆ ในเชียงใหม่ของเรา จึงมักมีระดับความหวานให้เลือก ทำให้สะดวกกับสายเฮลท์ตี้ และสายบิวตี้เพื่อการควบคุมน้ำหนักที่ได้ผล สำหรับผู้ป่วยเบาหวานเอง ถ้าจะเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้นและสะดวกมากขึ้น สามารถติดตามเทรนด์เครื่องมือใหม่ ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถติดตามระดับน้ำตาลได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชม ผ่าน application ในสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวก ง่ายดาย

 

ขอบคุณรูปภาพ : www.medtronic-diabetes.com.au

 

CGM คืออะไร ข้อดีที่ต่างจากการตรวจน้ำตาลอื่นๆ

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง หรือ Continuous glucose monitoring (CGM) ที่เป็นเครื่องติดไว้บริเวณชั้นใต้ผิวหนังและวัดระดับน้ำตาลจากสารน้ำระหว่างเซลล์ จากนั้นจะส่งสัญญาณผ่านระบบบลูทูธเพื่อแสดงผลระดับน้ำตาลผ่านทางสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา โดยสามารถวัดได้ถึง 288-480 ค่าใน 1 วัน (ขึ้นกับรุ่นของเครื่อง) อีกทั้งยังสามารถตั้งการแจ้งเตือน (alarm) ผ่านแอปพลิเคชันเมื่อมีน้ำตาลสูงหรือต่ำได้แม้ขณะนอนหลับ

  1. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและลดน้ำตาลสะสม (HbA1C)
  2. ช่วยลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
  3. ช่วยแสดงให้เห็นถึงการแกว่งของระดับน้ำตาล (Glucose variability) ซึ่งส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน
  4. ช่วยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของอาหารที่รับประทานต่อระดับน้ำตาล

โดยเครื่อง CGM สามารถกันน้ำและยึดติดกับตัวผู้ป่วยอย่างแข็งแรง ทำให้สามารถใส่อาบน้ำรวมถึงออกกำลังกายได้ตามปกติ ดังนั้น CGM จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สะดวกสบาย ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

 

ทำไมคนเราต้องตรวจน้ำตาลตลอดเวลา?

หัวใจของการรักษาเบาหวานอย่างมีประสิทธิภาพ คือการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป เพราะหากสูงเกินไปจนทำให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานในระยะยาว หรือต่ำเกินไปจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งปกติผู้ป่วยจะทราบระดับน้ำตาลในเลือดโดยการตรวจเลือดที่ปลายนิ้วด้วยตนเอง หรือ Self-Monitoring of Blood Glucose (SMBG) 1-7 ครั้งต่อวันตามชนิดและความรุนแรงของเบาหวาน ซึ่งอาจจะต้องทำบ่อย ๆ เจ็บตัวหลายครั้ง เพื่อการอ่านค่าที่แม่นยำต้องคอยหมั่นตรวจสอบความถูกต้องและวันหมดอายุของแผ่นตรวจน้ำตาล

 

เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง เหมาะกับใครบ้าง

สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยเบาหวานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น

  1. ผู้ที่ฉีดอินซูลินสูตรเข้มข้น ตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป หรือใช้ insulin pump
  2. ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลต่ำ หรือมีน้ำตาลต่ำแบบไม่มีอาการเตือน (Hypoglycemic unawareness)
  3. ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินสูตรอื่นๆ แล้วยังควบคุมน้ำตาลไม่ได้
  4. ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ตั้งครรภ์

 

ติดได้ง่ายและเจ็บน้อยลง

โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ติดตั้งให้กับคนไข้ที่มีความจำเป็นโดยแบ่งอุปกรณ์ออกเป็น 3 ส่วน

  1. Wearable sensor เป็นอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องหรือด้านหลังของแขน เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาล
  2. Transmitter เป็นเครื่องที่ติดกับ sensor เพื่อส่งสัญญาณผ่านระบบบลูทูธไปยังเครื่องรับเพื่อบันทึกค่า
  3. Receiver เป็นเครื่องรับสัญญาณจาก transmitter เพื่อแสดงผล บันทึกค่าน้ำตาล และแจ้งเตือนกรณีน้ำตาลสูงหรือต่ำกว่าค่าที่ตั้งไว้ ซึ่งตัวรับอาจเป็นสมาร์ทโฟนหรือเครื่องของชุด CGM

 

CGM แบ่งออกเป็น 3 แบบได้แก่

  1. Real time CGM เป็นระบบที่มีการวัดและบันทึกค่าระดับน้ำตาลตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ
  2. Intermittently scanned / Flash CGM (isCGM) เป็นระบบที่มีการวัดค่าตลอดเวลา แต่จำเป็นต้องนำเครื่องรับสัญญาณมาอ่านค่า จึงจะมีการแสดงผลและบันทึกค่าน้ำตาลดังกล่าว
  3. Professional CGM (rtCGM) เป็นเครื่องติดไว้กับผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 7-14 วันโดยที่ไม่สามารถดูระดับน้ำตาลขณะติดได้ จากนั้นจึงถอดเครื่องและนำผลน้ำตาลมาดูแบบย้อนหลังโดยแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษา

 

แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังจำเป็นต้องเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว 1-2 ครั้งต่อวันเพื่อตั้งค่ากับเครื่องให้มีความแม่นยำ ซึ่งแนะนำให้เจาะก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนนอน รวมถึงระดับน้ำตาลอาจมีความแตกต่างกับน้ำตาลปลายนิ้วได้ประมาณ 10% และแสดงผลช้ากว่าน้ำตาลในเลือดจริง (Lag times) ประมาณ 5-20 นาที ดังนั้นหากมีอาการที่ไม่สัมพันธ์กับค่าที่วัดได้ ผู้ป่วยควรเจาะน้ำตาลปลายนิ้วเพื่อให้มั่นใจในความถูกต้องของผลที่ได้ สำหรับผู้ที่สนใจใช้เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง(CGM) และรักษาโรคเบาหวานสามารถติดต่อเข้ารับคำปรึกษากับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นพ. ธีรเจต กิตติภูมิ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร 052 089 888 หรือ Call Center 1719

 

บทความที่เกี่ยวข้อง