“คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองและเรียนรู้ จึงอาจเที่ยวเล่น ซุกซนตามประสาเด็กโดยไม่ระวังจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม หมดสติ ชักเกร็ง และโดยเฉพาะการบาดเจ็บทางศีรษะตามมาได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าระวังการบาดเจ็บทางศีรษะในเด็กให้ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และเมื่อเกิดการบาดเจ็บแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความรุนแรงของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้”
การบาดเจ็บทางศีรษะ ภาวะที่พบบ่อยในเด็ก
นายแพทย์ชญตว์ ชาญมานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การบาดเจ็บทางศีรษะ(Head injury) ไว้ว่า การบาดเจ็บทางศีรษะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยครั้งในเด็ก และประเมินได้ยาก เพราะเด็กมักจะร้องไห้งอแงจนสร้างความลำบากใจและสับสนให้กับคุณพ่อคุณแม่ว่าเมื่อไหร่ควรจะพาเด็กที่ได้รับบาดเจ็บมาพบแพทย์ อาการต้องมีความรุนแรงระดับไหน หรือ ควรรอดูอาการก่อน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้วิธีดูแลรักษาการบาดเจ็บทางศีรษะของเด็กในวัยกำลังซนให้ดี
เรียกรถพยาบาล หรือ พามาพบแพทย์ทันทีเมื่อมีลูกน้อยมีอาการบาดเจ็บทางศีรษะเหล่านี้
- อุบัติเหตุศีรษะกระแทกจากความเร็วหรือที่สูง เช่น จักรยานยนต์ จักรยานที่ขับขี่เร็ว สเก็ตบอร์ด ตกจากเครื่องเล่นสนามเด็กเล่น หรือตกจากที่สูงมาก 1 เมตร
- เด็กสลบ จำเหตุการณ์ไม่ได้ หรือชักเกร็งหลังเกิดอุบัติเหตุ
- เด็กดูง่วงซึม อ่อนเพลีย หรืออาเจียน 2 ครั้งขึ้นไปหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
ความรุนแรงของการบาดเจ็บทางศีรษะ
การบาดเจ็บทางศีรษะ ในปัจจุบันได้ถูกแบ่งตามความรุนแรงเป็น 3 ประเภทคือ บาดเจ็บระดับเบา กลาง และสาหัส
- การบาดเจ็บศีรษะระดับเบา (Mild head injury): เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก เช่น วิ่งหัวโขกกัน ตกจักรยานหรือเตียงนอน ในกลุ่มนี้ สามารถแบ่งความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูง ซึ่งช่วยในการจำแนกวิธีรักษาที่แตกต่างกัน
- ความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บระดับต่ำ (mild head injury low risk): เกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เด็กอาจมีเพียงหัวโนและรอยถลอก ร้องไห้งอแง ไม่มีอาการง่วงซึมหรืออ่อนเพลีย อาการบาดเจ็บกลุ่มนี้ พ่อแม่ผู้ดูแลสามารถรอดูอาการของเด็กๆได้ก่อน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแย่ลงให้รีบพามาโรงพยาบาล
- ความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บระดับกลาง (moderate risk): เด็กมีอาการง่วงแต่ปลุกตื่น อาจสลบหรือจำเหตุการณ์ไม่ได้ ปวดศีรษะ มีการอาเจียนน้อยกว่า 2 ครั้ง ในการบาดเจ็บกลุ่มนี้แพทย์จะแนะนำให้นอนสังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในกลุ่มนี้ต้องได้รับการสแกนสมอง (CT brain)
- ความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บระดับสูง (high risk): เด็กจะมีอาการง่วงซึมแต่ปลุกตื่น อาเจียนมากกว่า 2ครั้ง มีอาการชักเกร็ง หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อน ในกลุ่มนี้ต้องได้รับการสแกนสมอง (CT brain) ทุกราย
- การบาดเจ็บศีรษะระดับกลางและสาหัส (moderate and severe head injury): คือ กลุ่มเด็กที่ได้รับบาดเจ็บและมีการรับรู้ที่ลดลง เช่นซึม ไม่ได้สติ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว มีอาการอ่อนแรง พูดจาสับสน เด็กใน 2 กลุ่มนี้ ต้องพามาพบแพทย์โดยด่วนที่โรงพยาบาล
เมื่อไหร่ที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กกลับมาพบแพทย์
เมื่อเด็กกลับไปรักษาและสังเกตอาการต่อที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจวิธีปฏิบัติเพื่อคอยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 24 ชั่วโมง และควรปลุกเด็กทุก 2-4 ชั่วโมง ภายใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อประเมินความรู้สึกตัวของเด็กว่าลดลงหรือไม่
หากเด็กมีอาการตามข้อใดข้อหนึ่งที่บ่งบอกไว้ดังต่อไปนี้ ต้องรีบกลับมาพบแพทย์โดยทันทีเพื่อรับการตรวจซ้ำอีกครั้ง
- ซึมลงกว่าเดิม ปลุกไม่ตื่น หรือ หมดสติ
- กระสับกระส่าย การพูดหรือพฤติกรรมผิดปกติ
- ชักกระตุก
- แขนขาอ่อนแรงลง
- มีไข้
- มีอาเจียนบ่อย
- อาการปวดศีรษะที่รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลา
- มีน้ำหรือของเหลวใสปนเลือด ออกจากหูจมูก หรือลงคอ
- ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก
- เวียนศีรษะ ตาพร่า หรือเห็นภาพซ้อน
- อาการผิดปกติอื่นๆ ที่น่าสงสัย และต้องการปรึกษาแพทย์
เอกสารอ้างอิง
- ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ,สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ,กรมแพทย์ทหารอากาศ, สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ,แนวทางเวชปฏิบัติกรณีสมองบาดเจ็บ (Clinical Practice Guidelines for Traumatic Brain Injury) ;2019.
- สุรกรานต์ ยุทธเกษมสันต์. เอกสารเผยแพร่ในคณะทำงานจัดทำแนวเวชปฏิบัติกรณีบาดเจ็บที่ศีรษะ,สถาบันประสาทวิทยา, กรุงเทพมหานคร; พฤศจิกายน
- American Collegeof Surgeons CommitteeonTrauma. Advanced Trauma Life Support Student Course Manual. 10 ed: American College of Surgeons; 2018.
- Carney N, Totten AM, O'Reilly C, Ullman JS, Hawryluk GW, Bell MJ, et al. Guidelines for the Management of Severe Traumatic Brain Injury, Fourth Edition. Neurosurgery. 2017;80(1):6-15.
ด้วยความปรารถนาดีจาก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์
แผนกศัลยกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แผนกศัลยกรรม
โทร 052 089 863
Call Center: 1719
" เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 22.00 น. "