VIDEO
ศูนย์เต้านมโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ มีทีมสหสาขาวิชาชีพนำโดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ “เต้านม” ครอบคลุมทั้ง มะเร็งเต้านม เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง ถุงน้ำที่เต้านม อาการเจ็บเต้านม มีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากหัวนม หรือ ก้อนที่รักแร้ เป็นต้น
ทีมสหสาขาวิชาชีพ เน้นให้บริการการรักษาที่ครบวงจร ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์สาขารังสีวินิจฉัยและภาพวินิจฉัยเต้านม รังสีแพทย์สาขารังสีรักษา และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัด พยาธิแพทย์ ที่ทำงานร่วมกันโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อมอบการรักษาตามมาตรฐานสากลร่วมกับความสมัครใจของผู้ป่วย อาทิ การให้บริการรักษาแบบสงวนเต้านมสำหรับสุภาพสตรีที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น มีรังสีแพทย์ที่ให้คำปรึกษาและให้การรักษา
มาร่วมรณรงค์ตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นกันเถอะ…
สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย รายงานว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทย และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าจะมีอัตราการพบมะเร็งเพียง 40 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 แสนคนต่อปี อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่ามะเร็งเต้านมมีอัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน ถ้าหากตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้าน มจึงมีความสำคัญและมีผลต่อผลการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ
สิ่งที่น่ากลัวของโรคมะเร็งเต้านมคือในระยะเริ่มต้นของโรคจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ เลยจนกว่าจะคลำได้ก้อนจึงมาพบแพทย์จึงทำให้ระยะของโรคเป็นมากขึ้น จากงานวิจัยหลายฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ลงความเห็นไปทางเดียวกันว่าการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมสามารถค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นได้ การตรวจแมมโมแกรมยังถือเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากลทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและมีโอกาสรักษาหายขาดและรอดชีวิตมากขึ้น
ใครบ้างที่ควรตรวจ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขื้นไป ควรตรวจ Ultrasound
ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี
ผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม
ผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติ เช่น คลำก้อนได้ ปวด หรือมีของเหลวผิดปกติโดยเฉพาะเลือดหรือน้ำสีแดงไหลออกจากหัวนม หรือมีแผลเรื้อรังที่หัวนม
มีประวัติครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมและหรือมะเร็งรังไข่
มีประจำเดือนมาครั้งแรกอายุน้อยกว่า 11 ปี หรือ หมดประจำเดือนเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี
ไม่เคยมีบุตร หรือ ไม่เคยให้นมบุตร
รับประทานฮอร์โมนเป็นเวลานาน เช่น เพื่อการคุมกำเนิด เพื่อรักษาเสริมด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ เพื่อช่วยในการเจริญพันธ์ เป็นต้น
เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
มีพยาธิสภาพของเต้านมที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งสูง* เช่น lobular carcinoma in situ, atypical ductal hyperplasia
เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายแสง บริเวณหน้าอก* ได้แก่ โรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง Hodgkin disease, non-Hodgkin lymphoma
การวินิจฉัยโรคเต้านม
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ให้บริการการตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยโรคทางเต้านมโดยการทำแมมโมแกรมระบบดิจิทัลที่ทันสมัยมีเครื่องอัลตร้าซาวด์ที่มีคุณภาพแม่นยำ และยังมีทีมนักรังสีเทคนิคที่มีความชำนาญ
บริการของศูนย์เต้านม โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ ให้บริการด้านการวินิจฉัยปัญหาและโรคของเต้านม ดังนี้
การตรวจเต้านมโดยละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตัลและเครื่องอัลตราซาวด์
การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือถุงน้ำของเต้านมโดยใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลล์ไปตรวจ
การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อโดยใช้เข็มเจาะตัดชิ้นเนื้อของเต้านม
การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อโดยการผ่าตัด
VIDEO VIDEO VIDEO