การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย

คือ การตัดหรือฝานชิ้นเนื้อตัวอย่างของรอยโรคผิวหนังเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เนื่องจากการวินิจฉัยโรคทางผิวหนัง การดูรอยโรคและตรวจแล็บเบื้องต้นยังไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ โดยมีข้อบ่งชี้ ดังนี้

1. รอยโรคที่สงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็ง
2. รอยโรคที่มีการวินิจฉัยไม่ชัดเจน
3. รอยโรคที่ต้องได้รับการยืนยันทางพยาธิวิทยาเพื่อการวางแผนการรักษา

 

ซึ่งวิธีการตัดชิ้นเนื้อที่ใช้มีอยู่ 2 วิธี คือ การฝานรอยโรค (Shave biopsy) และการตัดชิ้นเนื้อ แบบแผลเล็กด้วยอุปกรณ์เฉพาะ (Punch biopsy)   Punch biopsy เป็นวิธีที่ใช้บ่อยวิธีหนึ่ง เนื่องจาก

1. แผลเล็ก โดยทั่วไปมักใช้ขนาดประมาณ 3- 4 มิลลิเมตร เพราะเป็นการตัดชิ้นเนื้อด้วยการใช้อุปกรณ์พิเศษ ลักษณะคล้ายปากกาคือปลายเป็นรูทำจากเหล็กคม เพื่อกดลงตัดเนื้อให้ได้ชิ้นเนื้อออกมา และเย็บเพียง 2- 3 เข็ม
2. ประหยัดเวลา ใช้เพียง 10-20 นาที ในการผ่าตัด
3. สามารถกลับบ้านได้เลย
4. ทราบผลชิ้นเนื้อภายในประมาณ 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาผิวหนังระดับประเทศ ทำการอ่านผลแล็บจากการการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการทำหัตถการ

1. ระบุตำแหน่งของรอยโรคที่จะทำการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่าง
2. ทำความสะอาดบริเวณรอยโรค
3. ฉีดยาชาเฉพาะที่
4. กดเครื่องมือลงบนชิ้นเนื้อที่ต้องการตรวจ
5. เย็บแผล 2-3 เข็ม
6. นัดตัดไหมที่ระยะเวลา 5-7 วัน

พญ. ณฐภรณ์ ตงกิจเจริญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ครอบครัว
คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมผิวหนัง