แค่เลือกทานอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ

เบาหวานก็เอาอยู่หมัด!

 

อาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

เมื่อตรวจพบโรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหนึ่งในการดูแลตนเองที่สำคัญคือ การควบคุมอาหารและเลือกรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากจนเกินไป หากผู้ป่วย เบาหวาน สามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำได้ ก็จะสามารถช่วยให้สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดีมากขึ้น

 

ค่าดัชนีน้ำตาลคืออะไร

 

ดัชนีน้ำตาลต่ำ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

ดัชนีน้ำตาล หรือ Glycemic Index (GI) คือ ค่าที่ใช้บ่งบอกถึงความสามารถของอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตว่ามีผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น โดยแบ่งได้ทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่

  1. ดัชนีน้ำตาลต่ำ หรือ Low Glycemic Index คือ ค่าอยู่ระหว่าง 1- 55
  2. ดัชนีน้ำตาลปานกลาง หรือ Medium Glycemic Index คือ ค่าระหว่าง 56-69
  3. ดัชนีน้ำตาลสูง หรือ High Glycemic Index คือ ค่ามากกว่า 70

 

การเลือกทานอาหารควรเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำให้บ่อยกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลปานกลางและสูง

อาหารแต่ละประเภทแม้จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตใกล้เคียงกัน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ค่าดัชนีน้ำตาลแตกต่างกัน เช่น การขัดสีของอาหาร ปริมาณใยอาหาร ชนิดของแป้ง (แป้งชนิด Amylose จะย่อยช้ากว่าแป้งชนิด Amylopectin) เป็นต้น

 

ค่าดัชนีน้ำตาลในอาหารแต่ละประเภท

 

ข้าว/แป้ง ผัก ผลไม้ นม/ผลิตภัณฑ์นม ขนม/เบเกอรี่/อาหารจานด่วน
ข้าวบาร์เล่ย์ 25 กะหล่ำปลี 10 ฝรั่ง 17 นมถั่วเหลือง 30 พิซซ่า 60
ข้าวโอ๊ต 49 บร็อคโคลี่ 10 แก้วมังกร 37 นมสด 31 มักกะโรนีชีส 64
ข้าวกล้อง 54 ผักสลัด 10 แอปเปิ้ล,น้ำมะเขือเทศ 38 นมพร่องมันเนย 32 มันฝรั่งบด 73
ข้าวซ้อมมือ 55 เห็ด 10 สตรอเบอร์รี่, น้ำแอปเปิ้ล 40 โยเกิร์ต 33 เฟรนฟรายด์, โดนัท 75
ขนมปังโฮลวีต 68 หอมหัวใหญ่ 10 ส้ม 42 มันฝรั่งทอด 76
ขนมปังขาว 79 มะเขือเทศ 15 องุ่น 43
มันเทศอบ 85 แครอท 49 น้ำสัปปะรด 46
ข้าวเจ้า 87 ข้าวโพด 60 มะม่วง 51
ข้าวเหนียว 98 กล้วย, กีวี่, น้ำส้ม 52
ลำไย 53
มะละกอ 56
แคนตาลูป 65
สัปปะรด 66
แตงโม 72
อินทผลัม 100

 

ทำไมผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

ด้วยผู้ป่วยเบาหวานจะขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งอินซูลินถูกผลิตมาจากตับอ่อน จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยอินซูลินจะนำน้ำตาลในเลือดไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงาน ดังนั้น หากผู้ป่วยเบาหวานมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกแหล่งของคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำได้ ก็จะสามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดีมากขึ้น

 

คำแนะนำนำจากนักกำหนดอาหารวิชาชีพ

 

ระดับน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน) - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

สรุปคือ หากผู้ป่วยเบาหวานรู้จักเลือกทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกทานกลุ่มที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำให้บ่อยกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง จะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีกว่า รวมถึงบุคคลทั่วไปแม้ไม่ได้มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน (ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง) ก็สามารถเลือกทานอาหารกลุ่มที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำได้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีกว่าการเลือกทานอาหารรสหวานจัดหรืออาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง

 

Reference

  • Mae Fah Luang Foundation under Royal Partonage. Glycemic index หรือดัชนีน้ำตาลคืออะไร สำคัญต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างไร [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://home.maefahluang.org/17514357/glycemic [10 กันยายน 2564]
  • Diabetes Texas. What is the Glycemic index [online]. 2021, Available from: https://www.diabetestexas.com/what-is-the-glycemic-index/ [10 September 2021]
  • Medicowiki. Glycemic Index คืออะไร เอาไปใช้ทำอะไร? [ออนไลน์]. 2560, แหล่งที่มา: https://medicowiki.com/2017/11/28/glycemic-index/ [10 กันยายน 2564]

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

คุณนุจีจันทร์ บุญญาพัฒนาพงศ์

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แผนกอายุรกรรม

โทร 052 089 823

Call Center: 1719

" เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 07.00 – 20.00 น. "