รักษาอาการนอนกรนของลูกน้อย

ด้วยการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์

 

Highlight :

  •     อาการนอนกรนในเด็กมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ “ต่อมอะดีนอยด์” หรือ “ต่อมอะดีนอยด์โต’’
  •     เมื่อมีการติดเชื้อ “ต่อมอะดีนอยด์” จะโตและอักเสบขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จาก อาการนอนกรน  นอนหลับหายใจทางปาก น้ำมูกมากผิดปกติ
  •     ความผิดปกติของ “ต่อมอะดีนอยด์” เกิดจากการอักเสบบ่อยครั้งและมีขนาดโตขึ้นจนผิดปกติ หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลทำให้ลูกมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ช้าลงได้ เนื่องจากได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะที่หลับ

 

อาการนอนกรน หรือนอนอ้าปากหายใจในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเข้าใจผิด คิดว่าลูกเหนื่อยและอ่อนล้าจากการเล่นซนมาทั้งวัน  แต่จริงๆ ส่วนใหญ่แล้วอาการนอนกรนในเด็กมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ "ต่อมอะดีนอยด์" หรือ "ต่อมอะดีนอยด์โต"  ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติได้  โดยอาการนอนกรนในเด็กมักพบบ่อยในช่วงอายุก่อนวัยเรียนหรือช่วงวัยอนุบาล

 

ต่อมอะดีนอยด์สำคัญอย่างไร

“ต่อมอะดีนอยด์” เป็นต่อมน้ำเหลืองประเภทเดียวกับต่อมทอลซิลและเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน  มีหน้าที่คอยจับแบคทีเรียและไวรัสที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ช่วยป้องกันโรคในเด็กเล็ก เมื่อต่อมอะดีนอยด์เกิดการอักเสบซ้ำๆเนื่องมาจากการติดเชื้อจะทำให้ “ต่อมอะดีนอยด์โต”และขนาดที่โตขึ้นเรื้อรัง จนอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณหลังโพรงจมูก

 

สาเหตุที่ต่อมอะดีอยด์โต

“ต่อมอะดีนอยด์โต” มีสาเหตุจากการติดเชื้อและเกิดการอักเสบ โดยจะส่งผลทำให้มีอาการผิดปกติต่างๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา  โดยบางรายหากมีอาการติดเชื้อเรื้อรังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจมีการวินิจฉัยให้ทำการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์

 

ต่อมอะดีนอยด์โต มักมีอาการที่พบบ่อยดังนี้

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ได้ในช่วงตอนกลางคืน  ขณะที่ลูกน้อยนอนหลับสนิท เช่น

  • หายใจไม่สะดวก
  • หายใจเสียงดัง
  • หายใจทางปาก หรือ นอนอ้าปาก
  • นอนกรน
  • สะดุ้งตื่นในตอนกลางดึก
  • มีภาวะการหยุดหายใจ
  • น้ำมูกมากในจมูกทั้ง 2 ข้าง
  • การได้ยินลดลง

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคต่อมอะดีนอยด์

  • มีอาการง่วงหรืออ่อนเพลีย  เนื่องมาจากการนอนหลับไม่เต็มอิ่ม
  • สมาธิสั้น
  • มีการหลั่งของฮอร์โมนที่จำเป็นในการเจริญเติบโตลดน้อยลง เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวจะหลั่งในขณะที่เด็กมีการนอนหลับสนิท
  • มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกใบหน้า ทำให้รูปหน้ารีเป็นรูปไข่ จากการโก่งตัวสูงขึ้นของกระดูกเพดานปาก และมีการยื่นออกของฟันหน้าจนผิดรูป ซึ่งเกิดจากการที่เด็กหายใจทางปาก
  • การขาดออกซิเจนในช่วงของการนอนตอนกลางคืนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันเลือดในปอดสูง เป็นต้น

 

ข้อดีของการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ในเด็ก

  •     ช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้
  •     ทำให้ลูกน้อยมีคุณภาพการนอนหลับที่ดี
  •     มีพัฒนาการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีขึ้น
  •     สามารถควบคุมการทำงานของสมองได้
  •     มีสมาธิมากขึ้น
  •     ไม่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันส่วนบนของทางเดินหายใจ
  •     ลดผลข้างเคียงที่อาจกระทบใบหูชั้นกลางทั้ง 2 ข้าง
  •     การไหลเวียนระบายน้ำมูกลงสู่คอเป็นไปตามปกติ
  •     ลดการติดเชื้อซ้ำซากที่เกิดในต่อมอะดินอยด์ โดยรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล

 

สอบถามเพิ่มเติม
 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แผนกหู คอ จมูก | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

โทร 052-089-888 หรือ 1719

 

สาระสุขภาพ