“ลมชัก” รู้จักไว้ก่อน
โรคลมชัก เป็นปัญหาที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่มีสาเหตุจากหลายๆ ชนิด อาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ขึ้นกับชนิดของการชัก โรคลมชักพบได้ในช่วงทุกอายุ หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และถูกต้อง
อาการชักเกิดเนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมอง ก่อให้เกิดอาการชักตามมา โดยถ้ากระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้น รบกวนสมองเป็นบางส่วนจะทำให้เกิดอาการชักเฉพาะที่ โดยที่ยังรู้ตัวอยู่ แต่ถ้ามีเหม่อลอยหมดสติทำอะไรไม่รู้ตัว เรียกว่าอาการชักแบบเหม่อ แต่ถ้ากระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองทั้งสองข้างจะทำให้เกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือชักแบบแน่นิ่ง
สาเหตุของโรคลมชัก
- แผลเป็นในสมอง เช่น การติดเชื้อในสมอง, อุบัติเหตุต่อสมอง, ชักขณะไข้สูงในวัยเด็กที่นานหรือติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง, สมองขาดออกซิเจน, สมองถูกกระทบกระเทือนระหว่างอยู่ในครรภ์มารดาแรกคลอด
- โรคทางพันธุกรรม
- ภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง, พยาธิในสมอง
- โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือแตกหรือตีบตัน
- โรคทางกาย เช่น ภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูงหรือต่ำ, น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ, โรคตับ, โรคไต
- การดื่มเหล้า การเสพยาเสพติด ได้รับสารพิษ
อาการและอาการแสดง
- อาการชักเฉพาะที่ (Simple partial seizure) โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่างๆ โดยที่ยังรู้ตัว เช่น อาการชาหรือกระตุกของแขนขาหรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง เป็นซ้ำๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง หวาดกลัว ความรู้สึกแปลกๆ ความรู้สึกเหมือนฝัน หูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือหัวใจเต้นผิดปกติ
- อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized tonic-clonic seizure) เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติรบกวนเวลาการทำงานของสมองทั้งหมด จะเกิดอาการชักที่เรียกว่า “อาการชักทั่วทุกส่วน” หรือที่เรียกว่าลมบ้าหมู ชนิดที่พบบ่อยคือ อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยจะสูญเสียการรู้สึกตัวทันทีและล้มลง กล้ามเนื้อจะแข็งเกร็งทั่วทั้งตัว ตาจะเหลือกค้าง น้ำลายฟูมปาก อาจจะกัดลิ้นตนเองหรือปัสสาวะราด ระยะเวลาชักจะนานประมาณ 2-3 นาที หลังชักมักจะเพลียและนอนหลับหลังจากหยุดชัก
- อาการชักแบบแน่นิ่ง (Absence) พบได้บ่อยในวัยเด็ก อาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมาก ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายเป็นระยะเวลาสั้นๆ คล้ายเหม่อ ประมาณ 2-3 วินาที แล้วกลับมาทำสิ่งที่ค้างอยู่ต่อไปโดยมักไม่มีการเคลื่อนไหวแขนขา
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคลมชักโดยอาศัยข้อมูลของลักษณะชักที่ได้จากคนไข้และผู้พบเห็นผู้ป่วยขณะชัก (ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต, ปัจจุบัน, ประวัติครอบครัว) การตรวจร่างกาย, การตรวจทางห้องปฏิบัติการ, การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) บางครั้งการวินิจฉัยอื่น ๆ อาจมีความจำเป็น เช่น การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสมอง (MRI) การตรวจคลื่นสมองพร้อมวิดีโอ 24 ชั่วโมง
การรักษา
- การรักษาโดยการใช้ยาเพื่อไปช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการทานยาประมาณ 2-5 ปี แพทย์จึงจะพิจารณาหยุดยาได้ โดยที่ประมาณ 60-70% หายขาดจากโรคลมชักเลย ยากันชักในปัจจุบันมีมากกว่า10 ชนิด แต่ละชนิดก็ใช้ได้ดีกับการชักต่างชนิดกันออกไป
- การรักษาโดยการใช้การผ่าตัด ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษามาตรฐานทั่วโลกในผู้ป่วยที่มีแผลเป็นในสมองและดื้อต่อยา รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการชักอันก่อเกิดอันตรายหรือมีผลกระทบมากต่อการงานและสังคม อย่างไรก็ตามก่อนการผ่าตัดจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการชัก
- เมื่อพบผู้ป่วยที่กำลังชัก ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ
- จับผู้ป่วยนอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก และลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม
- ห้ามใช้นิ้วหรือสิ่งของใดๆ งัดปากผู้ป่วยขณะชัก เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ
- ผู้ป่วยหลังชักอาจมีอาการงงอยู่ ขณะยังไม่รู้สติ ห้ามยึดจับผู้ป่วยเพราะจะกระตุ้นผู้ป่วยให้ทำการต่อสู้รุนแรงได้
- ในกรณีที่ผู้ป่วยหลับหลังชักควรปล่อยให้หลับต่อ ห้ามป้อนอาหารหรือยาจนกว่าจะฟื้นเป็นปกติเพราะอาจสำลักได้
- รีบนำส่งโรงพยาบาล
ด้วยความปรารถนาดีจาก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคสมองและระบบประสาท | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
โทร : 052 089 888 หรือ 1719
เปิดบริการทุกวัน 08.00 – 16.00 น.