หมอเชื่อว่าใครๆ ก็ไม่อยากอ้วนใช่ไหมคะ!
นอกจากจะส่งผลต่อความมั่นใจในรูปร่างหน้าตาในชีวิตประจำวัน ความอ้วนมีผลต่อสุขภาพของคนเราโดยตรง เป็นภัยเงียบที่นำมาซึ่งความเจ็บป่วยต่างๆ มากมาย
วันนี้หมอจะมาชวนคำนวณกันดูว่า เราน่ะ อ้วนหรือยัง?
ก่อนจะผลีผลามโทษตัวเอง หรือพนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ของร้านอาหารเด็ดๆ เมนูดังๆ ทั่วเมืองในขณะนี้ เพราะบางทีภาวะน้ำหนักตัวขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น โรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือการหลั่งฮอร์โมนสเตียรอยด์ที่มากเกินไปจากต่อมใต้สมองหรือต่อมหมวกไต เป็นต้น ผู้ที่น้ำหนักตัวขึ้นโดยเร็วและมากๆ จึงควรเข้ามาตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงก่อนเพื่อรีบรักษาอาการได้แต่เนิ่นๆ นะคะ
ที่แน่ๆ หากปล่อยให้ตัวเองอ้วน อาจมีผลให้เกิดความเสี่ยงต่อ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคข้อเสื่อม โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือบางคนอาจสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และการยอมรับทางสังคมได้อีกด้วย
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มมีปัญหาน้ำหนักเกินแล้ว ใช้วิธีง่ายๆ ตามโปรแกรมการคำนวณหาดัชนีมวลกายนี้ได้เลยค่ะ คลิกที่นี่
หรือใครอยากลับสมองด้วยการคำนวณเอง ก็ใช้ Body mass index (BMI) คือ เอา น้ำหนัก (กก.) / ส่วนสูง (ม.)² ถ้าค่า BMI เกิน 23 ถือว่าน้ำหนักเกิน ถ้าเกิน 25 ถือว่าอ้วน ถ้าเกิน 30 ถือว่าอ้วนมาก นี่เป็นเกณฑ์การวินิจฉัยในคนเอเชียอย่างเราๆ นะคะ คนที่ถือว่าอ้วนมาก ก็ควรเลือกที่จะเข้ามาปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการดูแลให้กลับมาสุขภาพดีต่อไปค่ะ
ถ้าใครที่ยังมี BMI อยู่ในขั้นมาตรฐาน หรือ…เริ่มจะอ้วน ก็อย่านิ่งนอนใจนะคะ ควรดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ หากต้องการลดน้ำหนัก ก็ควรเลือกวิธีการที่เหมาะสม
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง อันนี้แหละค่ะ ที่ถือเป็นหัวใจหลักของการรักษาภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการหาความรู้ความเข้าใจเรื่องโภชนาการ การเลือกรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม เลือกประเภทอาหารได้อย่างถูกต้อง เน้นทานอาหารที่พลังงานไม่สูง แต่ก็ให้คุณค่าทางอาหารที่เพียงพอ รวมไปถึงการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน เน้นเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและลดมวลไขมันในร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาวได้ดี ทั้งนี้ เราควรเลือกชนิดของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุและโรคประจำตัวที่มีด้วยนะคะ
- การใช้ยาลดน้ำหนัก ในปัจจุบันมีหลากหลายประเภทที่ได้รับการอนุมัติว่ามีความปลอดภัยในการใช้จากองค์การอาหารและยา ยาแต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงของยาที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง และอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิดตลอดการใช้ยา
- การผ่าตัดลดน้ำหนักด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิผลในการลดน้ำหนักได้ดีที่สุด ยั่งยืนและปลอดภัยต่อผู้ป่วย จึงได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและในยุโรป โดยเฉพาะด้วยวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว เจ็บแผลน้อย ใช้เวลาในโรงพยาบาลเพียง 3 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แล้วกลับมามีรูปร่างดีขึ้นในที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในโรงพยาบาลชั้นนำในต่างประเทศ จึงควรมีการเลือกใช้บริการสถานพยาบาล หรือ โรงพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับสากล
- สอบถามข้อมูลการผ่าตัด คลิก หรือต้องการปรึกษาเพิ่มเติมเรื่องการลดน้ำหนัก คลิก
อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่