“แอสไพริน” พระเอกผู้เป็นมากกว่ายาแก้ปวด-ลดไข้?
ชาวตะวันตกเคยมีคํากล่าวว่า “เพียงกินแอปเปิลวันละผล ไม่ต้องดั้นด้นไปพบหมอ”
แต่ในปัจจุบันนี้ หลายคนอาจเชื่อว่า ยาแก้ปวดสามัญที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ
อย่าง “ยาแอสไพริน” ทําท่าจะมาแย่งตําแหน่งพระเอกนี้ไปจากแอปเปิลเสียแล้ว!
ยาแอสไพริน ที่เรารู้จักกันดีนั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อนำมาใช้บรรเทาอาการปวด ลดไข้ เป็นเวลาร่วมกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ในปัจจุบัน แอสไพรินเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปและมีหลายขนาด อาทิ แอสไพรินขนาดต่ำ เรียกกันว่า “เบบี้ แอสไพริน” (81 มิลลิกรัม) หรือขนาด 325 มิลลิกรัม เป็นต้น ข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์ในอดีตแสดงว่าการใช้ยา “เบบี้ แอสไพริน” นอกจากจะใช้ในการบรรเทาปวด ลดไข้แล้ว ยังมีประโยชน์ในการป้องกันเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรือ และป้องกันอัมพาตในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างมีนัยสำคัญ นั่นเป็นเหตุให้แพทย์จำนวนมากพากันแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันโรคเหล่านั้น และต่อมาก็เป็นคำแนะนำที่ได้รับการบอกต่อกันไปแพร่หลายในอีกหลายปีให้หลัง
เมื่อเร็วๆ นี้ ข้อมูลงานวิจัยการแพทย์ตั้งแต่ปี 2561 กลับพบคำตอบใหม่ที่ทำให้วงการแพทย์กลับมาตระหนักถึงคุณสมบัติของเจ้า ยาชนิดนี้อีกครั้ง ว่าพระเอกรายนี้อาจไม่ได้เหมาะสําหรับทุกคน ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นอีกหลายประการต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน
วารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลกอย่าง Lancet และ New England Journal of Medicine รวมทั้ง Journal of American Medical Association กล่าวถึงข้อสรุปที่เป็นไปในทางเดียวกันว่า การใช้ยาดังกล่าวในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจและยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ไม่น่าจะคุ้มต่อผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจก่อให้เกิดเลือดออกในกระโหลกศีรษะได้ด้วย จากผลการศึกษาในอาสาสมัครมากกว่า 130,000 ราย พบว่าการให้ยาแก่ผู้ที่ยังไม่เป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือด มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มการเกิดเลือดออกในกระโหลกศีรษะร้อยละ 37 นั่นหมายความว่าในผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้ ทุกๆ 1,000 ราย จะมีการเกิดเลือดออกในกระโหลกศีรษะถึง 2 ราย! และที่น่าตกใจไปกว่านั้นสำหรับชาวเอเชียอย่างเราๆ ก็คือการพบว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในชาวเอเชียและในผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยอีกด้วย (วารสาร JAMA ตีพิมพ์ online เดือนพฤษภาคมปี 2562)
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในบ้านเราก็อย่าเพิ่งปริวิตกไปกันใหญ่ โดยเฉพาะในรายที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ของท่านว่ามีความเสี่ยงสูงในโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดส่วนปลายของแขนขา เพราะในกลุ่มอาการดังกล่าวยังคงถือว่าเป็นยาที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลและมีความคุ้มค่าสูงมาก แม้ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกแต่ประโยชน์ในการป้องกันเส้นเลือดอุดตันนั้นมีมากกว่าหลายเท่า ดังนั้นผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาต่อไปตามคำแนะนำของแพทย์
ที่สุดแล้ว แม้ว่า เบบี้ แอสไพริน อาจจะไม่ใช่พระเอกสำหรับทุกคน ทั้งยังมีการค้นพบคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นคุณประโยชน์หลายประการอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าจะเป็น “ยาดี” ขนานใด ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้ยาทุกชนิด และไม่ควรซื้อยากินเองโดยไม่ได้รับวินิจฉัยถึงผลข้างเคียงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสูงสุดแก่ตัวเรานั่นเอง
ด้วยความปรารถนาดีจาก
ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่