อาการเจ็บป่วยระหว่างเดินทางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด ดังนั้น เภสัชกรจึงได้แนะนำกลุ่มยา 5 กลุ่มที่ควรพกไปด้วยในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้นต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้
ยากลุ่มแรกที่จะแนะนำ เป็นกลุ่มยาแก้ปวดเมื่อย ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ ได้แก่ Paracetamol (พาราเซตามอล) ซึ่งยาตัวนี้ช่วยบรรเทาทั้งอาการปวดไม่รุนแรง และลดไข้ หากนักเดินทางมีกิจกรรมที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการปวดมาก หรือมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ ควรพกกลุ่มยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ได้แก่ Ibuprofen (ไอบูโปรเฟน), Diclofenac (ไดโคลฟีแนค), Etoricoxib (อิโทริคอกซิบ), Celecoxib (ซีลีคอกซิบ) เป็นต้น แต่สำหรับนักเดินทางที่ไม่อยากรับประทานยา อาจจะใช้เป็นยาทาแก้ปวดก็ได้
ยากลุ่มต่อมา คือ กลุ่มยาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ดังนี้ ยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ORS (ผงเกลือแร่) ใช้ชดเชยการสูญเสียน้ำในกรณีท้องเสีย หรืออาเจียน, Ultracarbon (อัลตราคาร์บอน) ช่วยดูดซับสารพิษเมื่อท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ, Imodium (อิโมเดียม) เป็นยาหยุดถ่าย ใช้ในกรณีที่มีอาการท้องเสียมาก และจำเป็นต้องเดินทางต่อ อาจพิจารณาให้เริ่มรับประทานยาตัวนี้ สำหรับอาการท้องอืดควรใช้ยา Simethicone (ไซเมทิโคน) ช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ โดยยาตัวนี้ต้องเคี้ยวก่อนกลืน, ยาธาตุน้ำขาว ใช้แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย เป็นต้น
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มยาป้องกันเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dimenhydrinate (ไดเมนไฮดริเนต), Diphenidol (ไดเฟนิดอล) ช่วยป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน โดยแนะนำให้รับประทานยากลุ่มนี้ก่อนออกเดินทางอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
กลุ่มยาแก้แพ้ เป็นยากลุ่มต่อมาที่ค่อนข้างจำเป็นสำหรับนักเดินทาง ยากลุ่มนี้มีหลายตัว เช่น Hydroxyzine (ไฮดรอกไซซีน), Cetirizine (เซทิริซีน), Fexofenadine (เฟกโซเฟนาดีน) ช่วยลดอาการผื่นคัน และลดน้ำมูกได้ สำหรับนักเดินทางบางท่านที่ต้องการใช้ยาทาภายนอก อาจพิจารณาการใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์
กลุ่มยาสุดท้ายที่สำคัญที่สุด และห้ามลืม คือ กลุ่มยาประจำตัว ไม่ว่าจะเป็น ยาลดความดัน ยาลดไขมัน ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือยาอื่น ๆ ที่ต้องรับประทานทุกวัน ควรจัดเตรียมยากลุ่มนี้ให้เพียงพอสำหรับการเดินทางแต่ละครั้ง
ยาทั้ง 5 กลุ่มนี้ เป็นยาเบื้องต้นที่มีความจำเป็นสำหรับนักเดินทางที่จะไปท่องเที่ยวทั้งในระยะทางใกล้หรือไกล สำหรับขนาดยาที่รับประทาน ควรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์หรือเภสัชกร แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคลด้วย นักเดินทางบางท่าน อาจพิจารณานำยานอกเหนือจากยาทั้ง 5 กลุ่มนี้ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นยากันยุงหรือแมลง สำหรับนักเดินทางที่จะไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีการชุกชุมของแมลงต่าง ๆ หรือครีมกันแดดและเจลว่านหางจระเข้ สำหรับนักเดินทางที่จะไปท่องเที่ยวทะเล เป็นต้น ยิ่งไปกว่านี้ นักเดินทางที่มีประวัติแพ้ยา ควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไปด้วยทุกครั้ง สำหรับนักเดินทางที่มีโรคประจำตัว และใช้ยาควบคุมพิเศษ ควรพกใบรับรองแพทย์ พร้อมชื่อสามัญของยาที่เป็นภาษาอังกฤษติดตัวอยู่เสมอ
แผนกเภสัชกรรม
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
หมายเลขโทรศัพท์ 052-089-888