หลายท่านอาจมีความเข้าใจว่า ภาวะสมองเสื่อม พบได้ในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ภาวะสมองเสื่อมสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย อาการเหล่านี้ เช่น ขี้หลงขี้ลืม สับสน บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณมีภาวะสมองเสื่อมโดยไม่รู้ตัว!
เช็กด่วน! อาการผิดปกติของภาวะสมองเสื่อม
- การสูญเสียความจำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมากขึ้น
- สับสน
- บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากปกติ
- พฤติกรรมเพิกเฉย แยกตัว
- เสียความสามารถในการทำงานหรือในชีวิตประจำวัน
มีการเจ็บป่วยจากโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกับภาวะสมองเสื่อม โดยอาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นได้เมื่อได้รับการรักษา ภาวะดังกล่าวได้แก่ ภาวะการขาดวิตามินและฮอร์โมน อาการซึมเศร้า ผลกระทบจากการใช้ยาโดยเฉพาะยานอนหลับ การติดเชื้อ และโรคเนื้องอกในสมอง ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริง
รู้จัก “ภาวะสมองเสื่อม” กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แพทย์หญิงกนกวรรณ วัชระศักดิ์ศิลป์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ได้ให้รายละเอียดว่า ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเซลล์ประสาทบางเซลล์ในสมองหยุดการทำงาน ทำให้เกิดการสูญเสียการเชื่อมต่อกับเซลล์อื่นๆ จนเซลล์สมองเสื่อมหรือตายในที่สุด โดยภาวะสมองเสื่อมอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางความคิด พฤติกรรมและความสามารถในการทำงานในชีวิตประจำวันเปลี่ยนจนกระทบต่อชีวิต สังคม และการทำงาน
คุณหมอกนกวรรณยังได้อธิบายว่า ภาวะสมองเสื่อมสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยพบบ่อยในผู้สูงอายุ และพบน้อยในผู้ที่อายุน้อยกว่า 65 ปี
ภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย
- โรคอัลไซเมอร์
- ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด
- โรคเลวีบอดี (Lewy body disease)
- ภาวะสมองเสื่อมบริเวณสมองส่วนหน้า
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะให้หายขาดสำหรับภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มที่เกิดจากการเสื่อมหรือตายของเซลล์สมอง ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจึงควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพและอาการของโรคอย่างต่อเนื่อง
คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ภาวะสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงหรือจัดการความเสี่ยง แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ อายุ พันธุกรรม และ การมีบุคคลในครอบครัวมีภาวะดังกล่าว แต่อีกส่วนคือปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถจัดการและปรับเปลี่ยนได้ด้วย “การดูแลสุขภาพหัวใจ สุขภาพกาย และ สุขภาพใจ” ดังนี้
- การดูแลสุขภาพหัวใจ: คุมความดัน ลดมัน ลดหวาน ออกกำลังกาย และไม่สูบบุหรี่
- การดูแลสุขภาพกาย: ออกกำลังกายช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง รับประทานอาหารดีมีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- การดูแลสุขภาพใจ: ส่งเสริมสุขภาพจิต รักษาจิตใจด้วยการเรียนรู้กิจกรรมใหม่ๆ หางานอดิเรกทำ สังสรรค์และเข้าสังคม หรือ เล่นเกมฝึกสมอง
อย่างไรก็ตามหากพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและให้การดูแลอย่างเหมาะสม เพราะหากตรวจพบและทำการรักษาแต่เนิ่นๆจะสามารถช่วยลดภาระของผู้ดูแล และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีรวมถึงสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ด้วยความปรารถนาดีจาก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคสมองและระบบประสาท | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคสมองและระบบประสาท
โทร 052 089 888 Call Center: 1719
” เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น. “