วันนี้ BCM Lifestyle เชิญ ผศ.นพ.วีระชัย นาวารวงศ์ ศัลยแพทย์หัวใจมือหนึ่งแห่งศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่ มาเล่าถึงแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจแบบเชิงรุก ที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับตัวผู้ป่วย แต่ยังหมายรวมไปถึงบริบทรอบตัว นั่นคือ “ครอบครัว”

ในฐานะขวัญกำลังใจของผู้ป่วย เป็นผู้แบ่งปันสุขทุกข์เคียงข้างกันและทั้งยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในทุกมิติ ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด หลังการผ่าตัด ระยะฟื้นฟู ระยะติดตาม ไปจนกระทั่งผู้ป่วยหายดีในที่สุด

 

ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นตัวตั้งต้น

“การพบปะกันพร้อมหน้า ที่เรียกว่า Family Meeting ก็คือการที่ทีมแพทย์มุ่งการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ด้วยภาษาง่ายๆ เปิดโอกาสให้มีการสอบถามอย่างใกล้ชิด
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแผนการรักษาร่วมกัน”
ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายแพทย์และผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ เริ่มต้นเล่า

 

 

เพื่อให้ผู้ป่วยของ ศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่ ได้รับความมั่นใจและมีความรู้ในการรักษาอย่างครบถ้วน เราจึงนำคอนเซ็ปต์การ ‘ประชุมร่วมกับครอบครัวแบบพร้อมหน้า’ มาบรรจุเพิ่มในกระบวนการรักษา ACS Pathway
ซึ่งเป็นแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ทำให้ทั้งกระบวนการมีระบบชัดเจน วัดผลได้เป็นรูปธรรม ตลอดจนมีมาตรฐานตามหลักสากล เป็นการเพิ่มคุณค่าในการให้บริการให้แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป
ที่จะจัดให้มีการประชุมร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวแบบนี้ เฉพาะกรณีผู้ป่วยอาการหนักมากและในผู้ป่วยขั้นสุดท้ายที่ไม่สามารถตัดสินใจเองได้เท่านั้น

“การนำ “Family Meeting” มาบรรจุไว้ในกระบวนการรักษาส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด เป็นการเพิ่มแง่มุมในการรักษาพยาบาล ที่ไม่เพียงเฉพาะการตรวจวินิจฉัย การจ่ายยา หรือผ่าตัด
เพราะบางครั้งการให้การดูแลแบบ Medical Pathway ก็เป็นเรื่องซับซ้อน ยากที่ผู้ป่วยและครอบครัวจะเข้าใจ การได้พบทีมแพทย์แบบพร้อมหน้ากันนี้จึงช่วยให้ทุกคนในครอบครัวได้รับความรู้ มีความเข้าใจในอาการของโรคและแนวทางการรักษาเพิ่มมากขึ้น
ก่อให้เกิดความร่วมมือกันของทุกฝ่ายทำให้การรักษาราบรื่นยิ่งขึ้น” คุณหมอวีระชัยอรรถาธิบาย
“ตอนนี้เราจัดประชุมครอบครัวทั้งก่อนและหลังการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ และกำลังจะขยายผลไปถึงการรักษา ACS Pathway ครอบคลุมการรักษาที่ไม่ใหญ่ แต่มีความรุนแรงมาก
ไม่ว่าจะเป็นการฉีดสีในห้องสวนหัวใจ (Cath Lab) การทำ Stent การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ซึ่งเป็นการรักษาที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีอยู่ เพียงถูกฉีดยาชา ไม่ต้องดมยาสลบอีกด้วย”

 

พูดจาประสาชาวบ้าน เน้นสร้างความเข้าใจ

 

 

“เราคุยกันโดยใช้ภาษาที่ผู้ป่วยเข้าใจง่าย บางทีก็อู้คำเมืองนี่ล่ะ”่  คุณหมอยิ้ม

“เพราะครอบครัวเองก็จะอยากรู้ว่าหมอจะทำอะไรต่อไป อาการหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ผู้ป่วยต้องปฎิบัติตัวอย่างไร ญาติๆ จะมีส่วนร่วมในกรณีไหนบ้าง โดยมากจะเป็นการประชุมหลังผ่าตัดหัวใจเพื่อแจ้ง progress ป้องกันไม่ให้มีการเกิด surprise ในสิ่งที่เราไม่คาดคิดไว้ก่อน”

โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย การประชุมครอบครัวแบบพร้อมหน้าส่วนใหญ่จึงมักจะถูกจัดขึ้นในห้องพักผู้ป่วยเอง ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่อาจจัดห้องที่ใหญ่กว่านั้น
เช่น มีการคุยกันแบบเปิด slide ประกอบด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นกับจำนวนแพทย์ จำนวนคนฟัง และเนื้อหาที่จะคุยกันซึ่งสามารถเปลี่ยนไปตามบริบทที่สำคัญ จะมีพยาบาลผู้ประสานงานด้านหัวใจ Nurse Case Manager เป็นผู้บันทึกการประชุมแบบ Progress Note ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 

กระบวนการฟื้นฟูเชิงรุก

หลังการผ่าตัดหัวใจ ในระยะที่ผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวและอยู่ภายใต้การดูแลในห้อง Intensive Care แพทย์และพยาบาลสามารถพูดคุยแจ้งอาการให้กับญาติผู้ป่วยที่เฝ้ารอตรง Waiting Area ซึ่งได้รับการออกแบบให้อยู่ในบริเวณใกล้กัน
ต่อเมื่อผู้ป่วยเริ่มฟื้น การดูแลหลังผ่าตัดก็จะเข้าสู่รูปแบบที่เรียกว่า Cardiac Rehabilitation โดยศัลยแพทย์จะหารือกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อร่วมกันออกแบบวิธีการกายภาพบำบัด
ซึ่งเป็นการฟื้นฟูหลังผ่าตัดหัวใจในรูปแบบใหม่ ต่างจากวิธีดั้งเดิมที่นิยมให้ผู้ป่วยนอนนิ่งบนเตียงไปก่อน

“เรียกได้ว่าทันทีที่ผู้ป่วยลืมตานั่นแหละ งานฟื้นฟูหลังผ่าตัดเชิงรุกของพวกเราก็เริ่มเลย”

อาจารย์แพทย์ชื่อดังผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกันของ ทีมสหสาขาวิชาชีพ จาก ศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่ และ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจ
ที่ประกอบด้วยศัลยแพทย์หัวใจ อายุรแพทย์หัวใจ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และนักกำหนดอาหาร นับเป็นการเสริมกำลังกันช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น
โดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยเข้ามากายภาพบำบัดหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นการเสียโอกาส ทำให้ฟื้นตัวได้ช้าเกินควร

 

 

“หลังจากฟื้นตัวได้ไม่นาน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดจะแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มขยับแขนขยับขาบนเตียง ออกกำลังปอด จนต่อมาเมื่อผู้ป่วยลุกได้ เราก็จะพาลุกเพื่อเดินเหินทั้งที่มีสายน้ำเกลือระโยงระยางแบบนั้นเลย
เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อย่างผู้ป่วยสูงอายุ ถ้านอนมากๆ ก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเสมหะอุดหลอดลม ปอดแฟบ ปอดอักเสบ ลำไส้ทำงานช้า ลิ่มเลือดบริเวณขาอุดตันเส้นเลือดปอด ยิ่งอันตรายไปอีก”

ทีมสหสาขาวิชาชีพพบว่า แผนการฟื้นฟูเชิงรุกแบบ Cardiac Rehabilitation ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจมีความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลหลังฟื้นตัวอย่างใกล้ชิด
ค่าหัวใจและผลความดันโลหิตก็ดีกว่า หรือในรายผู้ป่วยอายุสูงถึง 80 ปี ที่ก่อนผ่าตัดหัวใจ มีปัญหาหลายอย่าง เช่น เดินเองไม่ได้ รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลียและซีดมาก
พอเข้ารับการผ่าตัดและได้รับการดูแลตามกระบวนการของ Pathway จนครบถ้วน ก็สามารถยืนและเดินเองได้ด้วย walker หลังจากผ่าตัดไม่นาน

การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย “หัวใจ” ของคณะแพทย์ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ จะถูกถ่ายทอดผ่านการประชุมหารือระหว่างแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
ก่อให้เกิดการพัฒนา
ปรับกระบวนการเพื่อยกระดับการดูแลรักษาให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ บนพื้นฐานของความเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน
คือเคารพในสิทธิของผู้ป่วย ทำความเข้าใจในบริบทรอบด้าน และคำนึงถึงความ
ปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ในฐานะส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการรับรองตาม
มาตรฐาน JCI หรือ Joint Commission International ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดทางการแพทย์ในปัจจุบันนั่นเอง