“ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง”
รีบรักษา ก่อนเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง!
“ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือ บุคคลทั่วไปอาจละเลยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพราะเข้าใจว่าสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอาการบ่งบอกในช่วงแรก หรือ มีความผิดปกติเล็กน้อยจนอาจคิดว่าอาการเหล่านี้สามารถหายเองได้ ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงโดยไม่รู้ตัว และเมื่อไม่ได้รับการรักษาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้!”
รู้จักกับ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
น้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและไม่ได้รับการรักษานั้นอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยส่งให้เส้นประสาท หลอดเลือด หรืออวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้
อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ต้องเฝ้าระวัง
น้ำตาลในเลือดสูงมักไม่มีอาการบ่งบอกในช่วงแรก แต่เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติได้เมื่อระดับน้ำตาลสูงเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อาการในช่วงเริ่มต้นสังเกตได้จาก
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
- มองเห็นไม่ชัด
- กระหายน้ำมาก
- น้ำหนักลด
- อ่อนเพลียง่าย
- แผลหายช้าและติดเชื้อง่าย
สำหรับผู้ที่ระดับน้ำตาลสูงเกิน 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากการสะสมของสารคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นของเสียในเลือดและปัสสาวะ ทำให้มีอาการอื่นตามมา เช่น ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้, หายใจสั้น, ปากแห้ง, คลื่นไส้ อาเจียน, ปวดท้อง, อ่อนเพลีย, น้ำหนักลด ในรายที่อาการรุนแรงอาจรู้สึกสับสน ซึมลง และหมดสติ
ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ เรียกว่า “ปกติ” และ “ไม่ปกติ”
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar) เป็นการตรวจดูระดับน้ำตาลที่มีในเลือด โดยต้องงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง ก่อนการตรวจเลือด
- ค่าปกติ ในผู้ใหญ่ คือ ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือเป็นระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติ
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจแนะนำในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเป็นเบาหวานในอนาคต
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (โดยการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง) ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ง่าย เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลผิดปกติ ต่างจากคนทั่วไปที่ฮอร์โมนอินซูลินจะถูกผลิตและหลั่งจากตับอ่อนหลังมื้ออาหาร โดยทำหน้าที่เป็นตัวนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงในระดับปกติ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะนี้ได้ง่าย เช่น ได้รับฮอร์โมนอินซูลินหรือรับประทานยาเบาหวานไม่เพียงพอ ไม่ควบคุมอาหาร มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยได้ออกแรง ได้รับบาดเจ็บหรือเข้ารับการผ่าตัด รับประทานยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ระดับน้ำตาลในเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถทำได้ตามวิธีดังต่อไปนี้
- การรับประทานอาหารจำกัดคาร์โบไฮเดรต
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
ทั้งนี้ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นควรรับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และหากพบความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการควบคุมหรือป้องกันอาการไม่ให้แย่ลง
ด้วยความปรารถนาดีจาก
คุณลักขณา เทศเปี่ยม
พยาบาลประสานงานโรคเบาหวานโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
โทร 052 089 823 หรือ Call Center: 1719