ทำไมผู้บริหาร มักมีอาการ
“หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท?”
นอกจากโรคไข้หวัดแล้ว โรคฮิตอันดับสองที่พาคนอเมริกันไปพบแพทย์ ก็คือ “โรคปวดหลัง” โดยเฉพาะช่วงหลังส่วนล่าง ในเมืองไทยเราถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ แต่ผู้บริหารและวัยทำงานจำนวนมากก็มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดตามบริเวณคอหรือหลัง มักมีอาการปวดร้าวลงแขน ขาหรือเท้า ร่วมกับอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นสัญญาณของ “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
ลองเช็กอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยตัวเองเบื้องต้น
- ปวดหลัง ปวดบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ
- ปวดร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า
- เดินได้ไม่ไกล มีอาการปวดชาลงไปถึงขาเหมือนเป็นตะคริวร่วมด้วย ต้องหยุดพัก แล้วจึงจะเดินต่อไปได้
- ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของขา กระดกข้อเท้าไม่ได้
- บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการขับถ่าย
หากลองสังเกตอาการของตนเองแล้วพบว่ามีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ไม่ควรปล่อยไว้ให้เรื้อรัง หรือไปรักษาด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทและเนื้อเยื่อโดยรอบมากขึ้น จนส่งผลให้การรักษาทางการแพทย์ทำได้ยากและใช้เวลานานขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นอย่างถูกวิธี คลิกที่นี่เพื่อนัดหมายปรึกษาแพทย์
55 – 90% ของคนเราจะมีอาการ “ปวดหลัง” โดยเฉพาะในผู้ใหญ่
โรคฮิตดังกล่าวมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานต่อเนื่องยาวนาน การยกของหนัก รวมไปถึงสาเหตุจากอุบัติเหตุต่าง ๆ แต่ถ้าเมื่อใดมีอาการปวดคอ ปวดหลัง ร้าวลงแขน ขาหรือเท้า ร่วมกับอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุและมีความรุนแรงหลายระดับจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลังทำให้ทรุดตัวและไปกดเบียดเส้นประสาทจนเส้นประสาทเกิดการอักเสบ การแสดงอาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของข้อกระดูกสันหลัง
สาเหตุของการเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือที่คนทั่วไปมักเรียกสั้น ๆ ว่าหมอนรองกระดูกทับเส้น เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังแตกและปลิ้นออกไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral Disc) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- ส่วนที่อยู่บริเวณศูนย์กลางจะมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายเจลลี่
- ส่วนที่อยู่โดยรอบ มีลักษณะเหนียวและหนาคล้ายเอ็น
- ส่วนที่ยึดติดกับข้อกระดูกสันหลัง มีลักษณะคล้ายกระดูกอ่อน
ซึ่งทั้ง 3 ส่วนจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวและรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลัง หากกระดูกสันหลังถูกใช้งานหนัก ใช้งานผิดท่า รับน้ำหนักมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง หรือแม้แต่ความเสื่อมตามอายุ ก็อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกและปลิ้นออกมาจนไปกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพก ร้าวลงขาหรือเท้า รวมทั้งมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นควบคุมการขับถ่ายลำบาก
อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้น
- ระยะแรกเริ่ม
เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มมีความเสื่อม จะทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยอาการปวดในช่วงแรกอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ ก่อนจะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความทรมาน
- ระยะปานกลาง
เป็นระยะที่หมอนรองกระดูกเริ่มเคลื่อนหรือปลิ้นออกมากดเบียดเส้นประสาท จนเกิดอาการปวดร้าวจากคอไปถึงแขน หรือจากหลังไปถึงขาและเท้า รวมถึงอาจมีอาการชาร่วมด้วย
- ระยะรุนแรง
เมื่อการกดทับเส้นประสาทรุนแรงขึ้น อาการปวด ชา และอ่อนแรงจะเริ่มเป็นมากขึ้น จนเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ และเสี่ยงต่อความพิการได้
การพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
แพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัย โดยเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น การเอกซเรย์กระดูกสันหลังในท่าทางต่าง ๆ และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI เพื่อหาสาเหตุและวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
ลดน้ำหนักและหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง
สำหรับผู้ที่มีปัจจัยการเกิดโรคจากปัญหาน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ควรเริ่มต้นการรักษาด้วยการลดน้ำหนักแบบถูกวิธีและปลอดภัย เพื่อไม่ให้ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นมากกว่าเดิม และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อกระดูกสันหลัง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แพทย์จะแนะนำให้มีการปรับพฤติกรรม เช่น ไม่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันนานเกิน 1 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการก้มเงย ยกของหนักเป็นประจำ
กายภาพบำบัด
เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลและได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่อาการหมอนรองกระดูกสันทับเส้นประสาทไม่รุนแรงมากนัก คือการทำกายภาพบำบัด ร่วมกับนักกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว โดยใส่อุปกรณ์พยุงหลังร่วมด้วย
- การออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลาง รอบๆ หลังและหน้าท้องให้แข็งแรง รวมไปถึงฝึกยืดกล้ามเนื้อหลัง เพื่อเป็นการลดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง
- การใช้ยา แพทย์จะจ่ายยาลดการอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อ และการรักษาเบื้องต้นตามอาการ เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ
สำหรับวิธีการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดและการให้ยาในข้างต้นนั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอื่น ๆ ได้แก่ การฉีดยาเข้าไปยังตำแหน่งใกล้เส้นประสาท (Epidural steroid injection, Selective nerve root block) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด รวมไปถึงการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง คลิกเพื่อสอบถามเพิ่มเติม
- การผ่าตัดแบบแผลเล็ก
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถช่วยให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีความปลอดภัยและแม่นยำมากขึ้น ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง เสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ แพ็กเกจผ่าตัดแบบแผลเล็ก
ด้วยความปรารถนาดีจาก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และอนุสาขาศัลยศาสตร์โรคกระดูกสันหลัง
ศูนย์โรคกระดูกและข้อ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
โทร. 052-089888 หรือโทร 1719