ไม่ว่าใครต่อใครก็มีโอกาสจะก้าวพลาดจนก่อให้เกิดอาการข้อเท้าแพลงได้ทั้งสิ้น และนั่นทำให้อาการบาดเจ็บข้อเท้าแพลงครองสถิติอาการที่พบบ่อยที่สุดในห้องฉุกเฉิน แต่ถ้ามันเกิดขึ้นซ้ำๆ และเรื้อรังจนก่อให้เกิดความรำคาญ เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย และการเดินเหินอย่างคล่องแคล่วในชีวิตประจำวัน—อย่าเพิ่งโทษตัวเองว่าอาจจะซุ่มซ่ามเกินไป แต่เราขอแนะนำให้คุณรู้จักอาการ“ข้อหลวม” !!!

ข้อหลวม เป็นอาการที่แพทย์วินิจฉัยกรณีข้อแพลงแบบเรื้อรัง ได้รับการรักษาทางกายภาพเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้าแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดผ่านกล้องเย็บซ่อมเอ็นข้อเท้าที่ขาดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินเหินได้อย่างปกติโดยเร็วที่สุด

 

ใครบ้างที่มักมีอาการข้อเท้าแพลง?

เพราะข้อเท้าแพลงมักเกิดจากการบิดข้อเท้าเข้าในขณะที่ปลายเท้าจิกลง เราทุกคนจึงอาจมีโมเม้นต์การบาดเจ็บข้อเท้าแพลงได้อย่างเท่าเทียมกันจากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุจากเล่นกีฬา  จากการเดินต่างระดับ ตกบันได หรือตกจากที่สูง แต่เชื่อแน่ว่าอาการนี้พบบ่อยที่สุดในกลุ่มนักกีฬา และนักกีฬาที่ละเลยการรักษาที่ถูกต้องก็จะนำไปสู่อาการ “ข้อหลวม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อเท้าแพลงต้องเจ็บแค่ไหน?

ปกติเอ็นข้อเท้าที่สำคัญ มี  3 เส้น คือเอ็น ด้านหน้า ด้านนอก และ ด้านใน  ความรุนแรงของการบาดเจ็บขึ้นกับว่ามีการบาดเจ็บของเอ็นกี่เส้น และการบาดเจ็บนั้น ทำให้เอ็นฉีกขาดหรือไม่ ถ้าขาดขาดบางส่วน หรือขาดทั้งหมด

แพทย์แบ่งความรุนแรงของข้อเท้าแพลงได้ 3 ระดับคือ

1  ถ้าเดินลงน้ำหนักได้ เอ็นปกติ ข้อเท้าบวมเล็กน้อย ถือว่า “อาการน้อย”

2 ถ้าเดินกระเผลก ข้อเท้าบวม เอ็นข้อเท้าขาดบางส่วนหรือยืด ถือว่า “อาการปานกลาง”

3 ถ้าเดินลงน้ำหนักไม่ได้ ข้อหลวม ข้อเท้าบวมมาก เอ็นข้อเท้าขาด ถือว่า “อาการมาก”

 

RICE การรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง

R = Rest  พักการใช้ข้อเท้า

I = Ice ประคบน้ำแข็ง ห้ามทายาร้อน ยาหม่อง

C = Compression พันผ้ายืดพยุงข้อเท้า

E = Elevation ยกข้อเท้าสูง

 

เสียงคลิก!

หากคุณได้ยินเสียง คลิก! ขณะอุบัติเหตุ  ข้อเท้ารู้สึกหลวม ข้อเท้าบวมมาก ปวดมาก เดินลงน้ำหนักไม่ได้ หากพยายามดูแลรักษาตามหลักการเบื้องต้นที่กล่าวมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจร่างกายเพื่อประเมินความรุนแรงอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการประเมินจากภาพถ่ายทางรังสี กรณีกดเจ็บที่กระดูกตาตุ่มด้านใน-ด้านนอก กระดูกเท้าด้านใน-ด้านนอก

การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  1. ตามหลักการ RICE ที่แนะนำผู้ป่วยเบื้องต้น = Rest , Ice , Compression , Elevation
  2. ให้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวด ยาลดบวม ในรูปแบบรับประทานและยาทาภายนอก
  3. พันผ้ายืดล๊อคข้อเท้า ที่พยุงข้อเท้า หรือ พิจารณาใส่เฝือกอ่อน จนกว่า อาการปวดจะดีขึ้น ประมาณ 7-10 วัน หลังจากนั้น เริ่มบริหารข้อเท้าและออกกำลังกล้ามเนื้อ จนกว่าจะหายปกติ
  4. ในรายกรณี เป็นเรื้อรัง รักษาทางกายภาพเพิ่ม ความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้า แล้วอาการไม่ดีขึ้น ข้อหลวมมากจนออกกำลังกายไม่ได้ หรือ มีปัญหาในชีวิตประจำวันปกติ ใส่ส้นสูงไม่ได้ มีปัญหาข้อพลิกซ้ำบ่อยๆ อาจพิจารณาผ่าตัดผ่านกล้องเย็บซ่อมเอ็นข้อเท้าที่ขาด

หากผู้ป่วยมีอาการข้อเท้าแพลง ควรดูแลตัวเองด้วยหลักการ RICE ในเบื้องต้นก่อน ต่อเมื่ออาการรุนแรงหรือเจ็บปวดมากขึ้นจนทนไม่ได้ หรือมีอาการเรื้อรัง มีอาการข้อพลิกบ่อยๆ จนผิดสังเกต ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็ว เพื่อให้สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใส่ส้นสูง หรือเล่นกีฬาได้อย่างมั่นใจ

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นพ. โชคสุพรรณ ดีวิจิตร

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศกระดูกและข้อ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่