ท่ามกลางกลิ่นอายของการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลที่ใกล้เข้ามา ไม่ว่าจะเทศกาลป๋าเวณียี่เป็ง เทศกาลคริสต์มาส หรือเทศกาลปีใหม่ก็ตาม นอกจากความสุขที่เราจะได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารักและดื่มด่ำกับอากาศดีๆ ในช่วงส่งท้ายปีแล้ว การดูแลตนเองและครอบครัวให้ห่างไกลจากอุบัติเหตุก็ยังเป็นข้อควรคำนึงอันดับต้นๆ ของเราทุกคนอยู่นั่นเอง
จากรายงานทางสถิติแล้ว เรามักพบอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลอยู่เสมอ และอุบัติเหตุที่พบบ่อย ก็คงหนีไม่พ้นอุบัติเหตุทางการจราจร การตกจากที่สูง อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่การเกิดบาดแผลน้อยใหญ่เป็นที่ระลึกประจำเทศกาล แต่ถ้าหากบาดแผลดังกล่าวมีขนาดใหญ่จนเป็นแผลเปิด มีเลือดออกมากๆ ท่านจำเป็นต้องตั้งสติและรีบนำตนเองหรือผู้ป่วยเข้ารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว!
ผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าแผล “กระดูกหักแบบเปิด” จำเป็นต้องเป็นแผลขนาดใหญ่ที่มองเห็นกระดูกขาวๆ แทงทะลุออกมาจากร่างกาย ทั้งที่ความจริงแล้วเราอาจมองไม่เห็นกระดูกโผล่ออกมาภายนอก เพียงต้องสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยขยับอวัยวะนั้นไม่ได้ หรืออวัยวะบิดเบี้ยวผิดรูปไป หรือหากยังพอขับรถเองได้ ก็สามารถเข้ามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ทางประตูด้านข้างของโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ได้ทันที หรือให้ผู้ช่วยเหลือโทรแจ้ง 1719 เพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อเกิดบาดแผล โดยเฉพาะแผลแบบเปิดและมีกระดูกหักร่วม (Open Fracture) ด้วยนั้น ย่อมจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ถึง 30 % ตามลักษณะความรุนแรง และการปนเปื้อนของบาดแผล หากผู้ป่วยปล่อยไว้นานเข้า นอกจากอาการปวดที่ทวีคูณแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะเมื่อเชื้อโรคมีโอกาสเข้าไปในร่างกายได้มากขึ้นก็จะสามารถทำอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ตลอดจนลุกลามไปเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้!
ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยและรีบให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำรวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และการผ่าตัดล้างแผลโดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ซึ่งหากผู้ป่วยมีความพร้อมและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ สามารถดำเนินการผ่าตัดได้ภายใน 6 ชั่วโมงนับจากที่ผู้ป่วยมาถึงยังโรงพยาบาล ซึ่งจะลดระยะเวลาความเจ็บปวด ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีระยะเวลาในการรักษาตามมาตรฐาน ไม่ลุกลามยาวนานจนเกินกว่าเหตุ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อผู้ทำการรักษา จะประเมินและวินิจฉัยอาการ โดยคำนึงถึงลักษณะความรุนแรง การปนเปื้อน และความสกปรกของบาดแผล กรณีจำเป็นต้องรับการผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบเปิด แบ่งออกเป็น 2 กรณี
- กรณีแรก หากผู้ป่วยได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง ขนาดของบาดแผลค่อนข้างเล็ก และไม่สกปรกมาก ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดล้างแผล และใส่อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกแบบภายในได้ในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบที่ไม่ต้องวางยาสลบ และทำได้ทันที
- กรณีที่สอง ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ค่อนข้างรุนแรง มีบาดแผลฉีกขาดขนาดใหญ่ และปนเปื้อนสิ่งสกปรกค่อนข้างมาก ศัลยแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดล้างแผล และใส่อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกแบบภายนอกไว้เบื้องต้น เมื่อทำแผลจนแผลดีขึ้น เนื้อเยื่อยุบบวมลง จึงจะสามารถทำการผ่าตัดดามกระดูกแบบภายในได้ในภายหลัง
ด้วยความปรารถนาดีตลอดทุกเทศกาลจาก
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ(ออร์โธปิดิกส์)
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศกระดูกและข้อ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่