สัมภาษณ์พิเศษ นายแพทย์ สีหราช โลหชิตรานนท์
รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 4 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
01
มิติแห่งการเปลี่ยนแปลง
เรามีนัดกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่คนใหม่ ในเช้าวันอากาศดีต้นเดือนธันวาคมเพื่อชมงานอาร์ทแห่งปี Chiang Mai Design Week 2022 ที่คุณหมอเลือกจะมาเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาโดยเฉพาะในมุมมองของคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะรู้จัก 'เชียงใหม่' มากขึ้นผ่านเรื่องเล่าและมิติสังคมอื่นมากเท่าที่จะเป็นได้
แต่ก่อนอื่น เราควรเริ่มปักหมุดการเดินทางที่ หลักเมือง กันก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล
และเมื่อเรามาถึงวัดเจดีย์หลวง นายแพทย์ สีหราช โลหชิตรานนท์ หรือ 'คุณหมอเบียร์' ก็รอท่าอยู่ก่อนและพร้อมแล้วที่จะเข้าสักการะเสาอินทขิลอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่
เกิดจากภาคกลาง เรียนรู้จากภาคอีสาน ทำงานอยู่ภาคตะวันออก และเดินทางมาอยู่ภาคเหนือ
คุณหมอเบียร์เล่าให้ฟังว่า เขาเติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศทะเลของจังหวัดสมุทรสงครามในครอบครัวทำธุรกิจ ก่อนย้ายไปเป็นนักศึกษาและเรียนจบแพทย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากเรียนจบก็รับราชการอยู่กระทรวงสาธารณสุข และเริ่มทำงานบริหารโรงพยาบาลมานับแต่นั้น คือเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อยู่ 3 แห่ง ก่อนจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่คุณหมอดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา นับรวมกันแล้วปีนี้ครบขวบปีที่ 12 บนเส้นทางการทำงานกับเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)
“ก่อนหน้านี้ผมรู้จักเชียงใหม่ในฐานะนักท่องเที่ยว ผมเป็นคนชอบท่องเที่ยว ชอบเดินทาง แต่ก่อนเวลามาเชียงใหม่ก็จะมาพายเรือคายักบ้าง ล่องแก่งบ้าง หลัก ๆ ก็จะไปที่แม่แตงครับ ช่วงหลังจะลงใต้บ่อยกว่า เพราะว่าชอบเล่นเซิร์ฟ”
“ทุกวันนี้เวลาเดินทางด้วยรถสาธารณะก็จะได้คุยกับ ‘คนเมือง’ บ้าง ผมว่าคนเชียงใหม่อบอุ่นนะครับ คือพร้อมที่จะคุย แม้แต่ชาวต่างชาติที่มาอยู่ที่นี่ ก็จะมีลักษณะแบบนี้เช่นกัน ซึ่งคาแรกเตอร์อันอบอุ่นแบบนี้ผมเชื่อว่ามันจะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวในฐานะจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวได้ดีมาก เวลาคุยกันผมพบว่าคนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยบ่นว่าโรงพยาบาลหรือระบบสาธารณสุขของที่นี่ แถมยังรู้สึกยินดีที่จะไปรอ ทุกคนก็มักจะบอกว่า “มันก็โอเคนะ” ซึ่งมันทำให้ผมแปลกใจมาก (ยิ้ม) เพราะโดยปกติแล้วการให้บริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลจะแบกรับความคาดหวังของผู้เข้ารับบริการสูงมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ และด้วยข้อจำกัดของระบบหลักและบุคคลากรทางการแพทย์ของประเทศยังมีไม่เพียงพอ การพร่ำบ่นถึงบริการที่ไม่ดีบนระบบทรัพยากรที่ขาดแคลนแบบนี้จึงเป็นเรื่องปกติของผู้คนในประเทศเรา”
ความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีในทุกท้องถิ่นมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการใช้ชีวิตในหลายพื้นที่ คลุกคลีกับหลากวัฒนธรรม ทั้งจากที่ราบลุ่มภาคกลางบ้านเกิด ผ่านชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์และเป็นแพทย์ใช้ทุนในท้องถิ่นอีสาน สั่งสมองค์ความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการบริหารโรงพยาบาลอยู่ภาคตะวันออกเป็นเวลานาน จนมาถึงวันที่สายลมแห่งชีวิตพัดพาขึ้นมาทางเหนือ
“พอมาอยู่เชียงใหม่ในฐานะสมาชิกใหม่ ผมว่าน่าสนใจครับ เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีผู้คนหลากหลาย จึงมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่สำคัญคือ มี ‘เรื่องเล่า’ จากผู้คนที่ลึกซึ้งถึงที่มาที่ไปในการเลือกมาอยู่ที่เชียงใหม่นอกเหนือจากการเป็นที่อยู่อาศัยหลังเกษียณอายุ สำหรับผมในฐานะที่เติบโตมาจากถิ่นอื่นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้มากขึ้นว่าเราจะอยู่ร่วมกันกับความหลากหลายนี้อย่างไรให้มีความสุข”
ด้วยประสบการณ์การบริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างพัทยา คุณหมอเบียร์มีโอกาสได้เดินทางไปออกโรดโชว์ในหลาย ๆ ประเทศ นำเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นจากโปรเจกต์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนั่นทำให้คุณหมอมั่นใจว่าจะสามารถนำพาให้โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ร่วมสนับสนุน ยุทธศาสตร์และพันธกิจให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางทางการแพทย์และบริการสุขภาพ ในอนาคตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
“จริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นชัยภูมิที่ดี ในแง่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้เปรียบประเทศอื่น ทั้งการท่องเที่ยวระยะสั้น หรือการอยู่ระยะยาว อย่างเวลาเราไปโรดโชว์ เราจะแนะนำตัวว่าเรามาจากพัทยานะ แล้วบอกเค้าว่าเพื่อดูแลให้คุณมาเที่ยวพัทยาอย่างปลอดภัยเรามีบริการทางการแพทย์อะไรบ้าง รองรับทั้งอุบัติเหตุฉุกเฉิน หัวใจ สมอง หรือโรคเรื้อรังที่ทำให้ลำบากใจในการเดินทางท่องเที่ยว เราทำได้กระทั่งส่งเครื่องบินไปรับยังประเทศของคุณ อันนี้เป็นบทบาทด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่โรงพยาบาลเรามีส่วนสนับสนุน คือการนำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีความต้องการบริการทางสุขภาพเข้ามา อย่างในเชียงใหม่เอง ผู้สูงอายุที่ต้องการล้างไตขณะมาท่องเที่ยว ก็จะสามารถติดต่อมายังโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถมาท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก และปลอดภัยครับ”
บทสนทนาดำเนินไปอย่างรื่นไหลระหว่างเดินชมนิทรรศการ สอดแทรกด้วยการสอบถามเรื่องราวที่เขาสนใจเป็นพิเศษยามเดินผ่านบูธต่าง ๆ เราเห็นความพยายามทำความเข้าใจในมิติชีวิตของคนล้านนา ผ่านการหยุดแวะชมดีไซน์เครื่องเงิน ผืนผ้า ผางประทีป หรือการมีส่วนร่วมจัดสรรพื้นที่สีเขียวในจังหวัดเชียงใหม่ เราจึงอดไม่ได้ที่จะสอบถามถึงมุมมองต่อผู้คน ในฐานะที่เป็นทั้ง 'คุณหมอ' และเป็น 'ผู้บริหาร'
คุณหมอเบียร์ เล่าย้อนกลับไปยังจุดเปลี่ยนในชีวิตที่เกิดขึ้นหลังจากทำงานใช้ทุนจนครบในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์ที่จังหวัดอุบลราชธานี จากเดิมตั้งใจอยากเรียนต่อเฉพาะทางด้วยความมุ่งหมายจะเป็นศัลยแพทย์ระบบประสาท หลังจากที่มีโอกาสช่วยอาจารย์ผ่าตัดสมองชนิดที่เรียกได้ว่า คืนหนึ่ง ๆ ต้องเข้าผ่าตัดกันจนสว่างคาตา...
“ผมเห็นอาจารย์แพทย์ต้องทำงานอย่างหนักทั้งผ่าตัดและอยู่เวร ทำให้ฉุกคิดได้ว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้ ถ้าเราดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้ดี เราช่วยคัดกรองคนที่มีความดันโลหิตสูงได้ทั้งจังหวัดแล้วดูแลตั้งแต่ต้นเหตุ โอกาสการเกิดเส้นเลือดแตกก็น้อยลง ภาระของแพทย์ก็จะลดลง ผมในตอนนั้น ที่อายุประมาณ 24-25 เลยตัดสินใจเบนเข็มว่าเรามาเรียนรู้งานบริหารเลยดีกว่า เพราะถ้าเราสามารถผลักดันนโยบายที่ดี มีการสนับสนุนทรัพยากรที่เหมาะสม เราจะช่วยสร้างสุขภาพให้กับผู้คนได้กว้างและยั่งยืนกว่า นั่นคือ ช่วยทั้งคนไข้และแพทย์ไปได้ในขณะเดียวกัน”
มิติในการมองผู้คนจึงเปลี่ยนตามไปด้วย พอมาทำงานในฐานะผู้บริหาร ก็จะคำนึงถึงปัจจัยที่ครอบคลุม บริบทที่มีผลในการรักษาพยาบาล เพราะการจะทำให้ผลการรักษาดีมีองค์ประกอบมากไปกว่าการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัย หรือการจ่ายยา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมในการดูแลที่เหมาะสม อย่างแสงที่เข้ามาในห้องคนไข้ต้องสัมพันธ์กับการรู้ตื่นของคนไข้อยู่เสมอ ๆ ระบบอากาศในโรงพยาบาลที่ถูกปรับให้เหมาะกับคนไข้เปราะบาง วัสดุศาสตร์และระดับความแข็ง-ความฝืดของพื้นที่เหมาะกับคนไข้สูงอายุ ไปจนถึงระบบน้ำระบบไฟที่ต้องทำกันชนิดที่เรียกว่า ‘สำรองของสำรอง’ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าระบบในการดูแลคนไข้ของโรงพยาบาลมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง
'มิติของผู้คน' ในมุมมองของผู้บริหารโรงพยาบาลจึงถูกตกผลึกออกมาเป็น การมองผ่านแว่นตาของคนไข้และญาติ เพื่อให้เข้าไปเข้าใจใน 'วิถีชีวิต' ของคนเหล่านั้น ไม่เพียงความปลอดภัยแต่คือการกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดังเดิมหรือใกล้เคียงที่สุด
"ยกตัวอย่างเช่น นอกจากการผ่าตัดเข่าเพื่อให้ได้ข้อเข่าที่ตรง เรามองไปถึงการส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการ การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าเพื่อให้คนไข้สามารถกลับมาเดินได้ดีหลังผ่าตัด หรืออย่างคนไข้หัวใจขาดเลือดเข้ามา งานของเราไม่ได้จบที่การสวนหัวใจเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างปลอดภัย แต่ยังหมายรวมไปถึงการเสริมสร้างให้คนไข้ยังสามารถกลับไปทำกิจวัตรต่าง ๆ ร่วมกับคนที่เขารัก กลับไปวิ่งจ็อกกิงได้ มุมมองของผู้บริหารโรงพยาบาลก็คือการตอบโจทย์ ความต้องการของคนไข้ให้ได้มากที่สุด”
การทำงานสไตล์ 'ผู้อำนวยการสีหราช'
“ผมเป็นคนที่แสดงออกชัดเจน โกรธ ชอบ ไม่ชอบ ดีใจ จะเห็นง่าย จะเอาอะไรก็จะบอกเลย ถ้าไม่ชอบก็จะบอก อย่างเรามักจะหงุดหงิดกับการแก้งานกลับมาทำซ้ำ โดยเฉพาะงานที่ไม่สื่อสารกันตั้งแต่แรก ดังนั้นน้อง ๆ จะกล้าบอกเลยว่า “อาจารย์อันนี้ไม่รู้ ไม่ได้ทำ” ซึ่งเราจะจบแค่นั้นแล้วไปต่อ ดีกว่าการใช้คำพูดสวย ๆ กลบเกลื่อนไว้แล้วทำให้เสียเวลาภายหลัง การเกิด Occurrence ก็เช่นกัน ผมจะไม่โกรธเลยถ้าเราทำพลาด แต่จะโกรธถ้าไม่รีพอร์ทแล้วมารู้ทีหลัง อันนี้ผมไม่โอเค ผมว่าเวลาทำงานด้วยกันก็จะเรียนรู้กันไปเอง และสิ่งเหล่านี้จะช่วยหลอมวิธีคิดวิธีทำเข้าไปกับตัวองค์กรในที่สุด”
Growth Mindset เป็นวิธีที่คุณหมอเบียร์เลือกใช้ในการบริหารคน ซึ่งเป็นวิธีที่ยั่งยืนและก่อเกิดการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น ไม่ว่าผู้นำจะอยู่หรือไม่ ทีมงานก็เดินต่อได้ เพราะสำหรับคุณหมอแล้ว KPI เป็นเพียงเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน แต่ไม่ใช่ในการประเมินประสิทธิภาพของคนอย่างแท้จริง
“องค์กรจะมีคาแรกเตอร์ยังไง ขึ้นกับผู้นำคนเดียวเลยครับ ผู้นำจึงต้องชัดเจนในทิศทางและสิ่งที่เชื่อ และต้องถ่ายทอดออกไป เรียกว่าพูดจนเราเหนื่อยนั่นแหละครับ (ยิ้ม) สิ่งเหล่านี้มันจะแผ่ออกไปเรื่อย ๆ จนถึงหน้างาน สำหรับผมแล้วไม่ใช่ให้ทีมงานปรับเข้ามาหาเรา เพราะความพึงพอใจในบริบทขององค์กรต้องอยู่เหนือความพึงพอใจส่วนบุคคลจึงจะถือว่าสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้ในระยะยาว ถ้าในองค์กรของเรามีกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนประสิทธิภาพในระดับสูงได้ดีสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผมจึงจะพยายามจะดูว่าทีมงานเราเป็นใคร จะไปไหน ทำอะไรกัน และเราจะเข้าไปช่วยสนับสนุนได้อย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร ถ้าองค์กรของเรามีแผนยุทธศาสตร์ที่ดี มีความชัดเจน ดำเนินไปในทิศทางที่พวกเราอยากไป มันเป็นหน้าที่ผมในการหาเครื่องมือที่เหมาะสมในการพาทุกคนไปให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ในบริบทและในแบบฉบับของโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ ซึ่งจะตอบโจทย์ชาวเชียงใหม่ได้อย่างแท้จริง”
ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อนปีที่ COVID-19 แพร่ระบาด จนมาถึงยุค Post COVID-19 ที่ผู้คนปัจจุบันหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น คุณหมอยืนยันว่าบทบาทของโรงพยาบาลก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือต้องเป็นแบบ Along Care Cycle ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่มุ่งมั่นต้องการเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ซึ่งขณะนี้เรามีทั้งหมด 6 ศูนย์ฯ คือ ศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพเชียงใหม่ ศูนย์ออนโคโลยีสำหรับโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ล่าสุดคือศูนย์กุมารเวชกรรม เราจึงเน้นให้การดูแลอย่างต่อเนื่องตลอดวงจร งานของเราจะเริ่มตั้งแต่ต้นคือตั้งแต่คนเหล่านั้นยังไม่ป่วยซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก ประกอบด้วยงานตั้งแต่การคัดกรอง, การประเมินและการป้องกันโรคทั้งหมด และตรงนี้จะเป็นธุรกิจใหม่ของเรา แทนที่แพทย์พยาบาลจะต้องมาดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตอนอายุมากๆ เรามาคุยกันตั้งแต่อายุ 45 เพื่อหาทาง ป้องกันอัลไซเมอร์ ดีกว่า ซึ่งถ้าเราทำงานป้องกันโรคได้ดี ผู้คนจะป่วยช้า หรือไม่ป่วยเลย สุดท้ายมันจะวัดกันที่การมีอายุยืนยาวขึ้นโดยภาพรวม"
นอกจากภารกิจในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ แล้ว คุณหมอเบียร์ยังดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 4 ที่ดูแลโรงพยาบาลกรุงเทพครอบคลุมทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนและถ่ายทอด BDMS Values ให้เหมาะกับแต่ละท้องถิ่น
“สำหรับผมแล้ว BDMS Values เป็นแก่นของการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากว่า B, D, M, S แต่ละตัวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่หลักของเรา ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหนเมื่อรักษาพยาบาลเราก็คาดหวังผลที่ดีที่สุด เราต้องการผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ คนไข้กับญาติก็เช่นกัน แต่การที่จะแปลงทำให้ คุณค่า แต่ละตัวออกมาในแบบที่คนไข้จับต้องได้ ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันออกแบบ
Beyond Excellence นี่เป็นสิ่งจำเป็นเลย อย่างเช่น ถ้าคนไข้เด็กหอบจาก RSV เข้าพักโรงพยาบาลอื่น คนไข้ต้องนอน 7 วัน เราจะทำให้คนไข้หายจากโรค ในเวลาที่น้อยกว่านั้น เพื่อให้คนไข้กลับไปเป็นปกติเร็วขึ้น เสียเวลาน้อยลง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายน้อยลงด้วย
Deep Empathy โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ตั้งเป้าหมายจะไปให้ถึง ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นจนพร้อมในระดับที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ (Compassionate Empathy) เราจึงต้องหยั่งรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ของเราและตระเตรียมทุกอย่างให้พร้อมล่วงหน้าเพื่อให้สามารถดูแลคนไข้ในทุกบริบท
Moral Commitments เราจะวัดผลกระบวนทำงานให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จรรยาบรรณแพทย์พยาบาล หรือ โรงพยาบาลสีเขียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้เราไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน
Service with Thai Hospitality โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะกรุงเทพพัทยา หรือ กรุงเทพเชียงใหม่ ก็ต้องเลือกดีไซน์และสะท้อนคุณค่าสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ของตน ผมคิดว่าน่าสนใจมาก ๆ สำหรับเชียงใหม่ ซึ่งมีซอฟต์พาวเวอร์อยู่มาก อย่างอาหารไทยนี่แทบจะเรียกได้ว่าไม่ต้องทำอะไรเลยก็ชนะแล้ว และสำหรับบริการ คนไทยเรานี่อยู่ในสายเลือดเลย ไม่ว่าจะภาคไหนก็ตาม เห็นได้ชัดเมื่อไปเทียบกับบริการของประเทศอื่น ถึงเค้าจะลงท้ายว่า "Sir" ทุกคำ แต่สายตาเค้าก็อาจจะยังไม่ได้สื่อความหมายตามนั้นทั้งหมด แต่คนไทยเรานี่ถึงแม้ว่าภาษาจะไม่ค่อยดี แต่เมื่อต้องบริการแล้วแทบจะเรียกได้ว่าพลีชีพบริการกันเลยทีเดียว"
03
มิติแห่งตัวตน
เพื่อให้สมกับที่เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งกาแฟ เราจึงเลือกจบทริปกันที่ร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมหนึ่งของตึกนิทรรศการ แวดล้อมไปด้วยกลิ่นกาแฟ เครื่องชงครบเซ็ตและบาริสต้าที่คอยให้คำแนะนำในการเลือกกาแฟอย่างเอาใจใส่ ไม่ว่าเมล็ดกาแฟเชียงใหม่อย่างปางขอน เทพเสด็จ และกาแฟอิมพอร์ตต่าง ๆ ก็ยังได้รับการเลือกสรรอย่างประณีต คุณหมอเบียร์ใช้เวลาครู่หนึ่งก่อนจะเลือกกาแฟดริปและกลับมาคุยกับเราต่ออย่างเป็นกันเอง
“ผมเองชอบดื่มกาแฟ เรียกว่าติดเลยก็ว่าได้ (ยิ้ม) คือถ้าเป็นวันทำงาน เช้า ๆ ผมจะดื่ม ดับเบิล เอสเปรสโซ เพื่อกระตุ้นพลังในการทำงาน และจะมีตอนสายและบ่าย ๆ อีกสักแก้วนึง แต่ถ้ามีเวลาอย่างวันพักผ่อนหรือไปเที่ยว ผมมักเลือกกาแฟดริปแบบนี้แหละ เพราะชอบที่ได้ละเมียดจิบกาแฟดูบรรยากาศ ส่วนเรื่องเมล็ดหรือการคั่ว ผมค่อนข้างเปิดกว้างเลยครับ ลองได้หมด หลัง ๆ ก็ชอบไปลองพวกกาแฟผสมน้ำมะพร้าว หรือผสมยูซุ ซึ่งก็ชอบไปอีกแบบ”
ทำงานเยอะแบบนี้ อาจารย์จัดสรรเวลาพักผ่อนอย่างไร
ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่องนอนและคุณภาพของการนอน ผมเป็นคนนอนเร็ว อย่างน้อย ๆ ก็ 7 ชั่วโมง สามทุ่มครึ่งนี่ถ้าไม่ติดงานผมก็หลับแล้ว
แสดงว่าไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย
ใช้ทำงานมากกว่า (หัวเราะ) หลัก ๆ เลยใช้ เฟซบุ๊ก คนรุ่นผมใช้ตัวนี้ก็เลยต้องเกาะกลุ่มกัน เพื่อนในกลุ่มก็แยกย้ายกันไปทำงาน มีโอกาสได้คุยกันน้อย ก็เลยเป็นช่องทางให้มีโอกาสได้ติดตามเพื่อน ๆ หรือแชร์ข้อมูลเวลาที่ว่าง โซเชียลมีเดียอย่างอื่นก็มีแอ็กเคานต์แต่ไม่ค่อยได้ใช้ อย่างเช่น อินสตาแกรม ทวิตเตอร์
ความสุขในการทำงานของ ผู้อำนวยการสีหราช
สิ่งที่ผมดีใจ คือ การได้เห็นน้อง ๆ ทีมงานเติบโต เก่งขึ้น ทำงานได้สำเร็จ มีความภาคภูมิใจและมีเครื่องมือที่เหมาะสม ถือเป็น ความสำเร็จอย่างหนึ่งของผม ได้เห็นการเติบโตเหล่านี้ได้จากวิธีคิด วิธีพูด ทำงานของพวกเขาเหล่านั้น หรือบางครั้งแม้แต่ความล้มเหลวก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง เป็นกระบวนการในการเรียนรู้ ในฐานะผู้นำองค์กรถ้าเรามี ความสัมพันธ์ที่ดี การตัดสินใจที่ดีอย่างต่อเนื่อง มันจะก่อให้เกิดเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจกันและจะเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีตามมา
แล้วความสุขในภาพรวมของชีวิต
เป็นคำถามที่ดีมากนะครับ (ยิ้ม) นอกจากงานบริหารโรงพยาบาลที่ทำประจำแล้ว ผมยังทำธุรกิจอย่างอื่นอีก 6-7 บริษัท ทำแล้วเจ๊งหรือปิดไปก็เยอะ แต่ทำไมถึงยังทำอยู่ (ยิ้ม) พอถึงจุดนึง เราพบว่า ปฎิสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้างคือสิ่งเดียวที่ทำให้หัวใจเราพองโตจริง ๆ นั่นหมายรวมถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะในที่ทำงาน ในครอบครัว กับกลุ่มเพื่อน มันเป็นความสุขจริง ๆ ที่ไม่ใช่เงินในบัญชีหรือเพียงความสำเร็จในงาน สำหรับผมแล้วได้รับความสำเร็จในงานก็ดีใจ แต่อีกเดี๋ยวก็จะมีเป้าใหม่และเริ่มใหม่กันอีกครั้ง ดังนั้น ลูกบอลเพียงลูกเดียวที่ผมจะไม่ยอมให้แตกเลยคือ ครอบครัว รวมทั้งความสุขกับคนรอบข้าง
คำถามยอดฮิตปิดท้าย ...
‘ภูเขา’ หรือ ‘ทะเล’ และเพราะอะไร
จริง ๆ ผมชอบหมดนะครับ มันมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน เมื่อก่อนก็เข้าป่า ปีนเขา ตอนอยู่กับ ‘ทะเล‘ ก็หากิจกรรมแถวทะเลเล่น พวกโต้คลื่น อย่างผมเป็นเซิร์ฟเฟอร์ กินง่ายอยู่ง่ายคลุกคลีอยู่ในวัฒนธรรมเซิร์ฟ ชอบพาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติ ไปอยู่กับคลื่นของอันดามันที่มีพลังมาก ๆ เรียนรู้ที่จะอดทนรอให้คลื่น “ได้” ในรูปแบบที่เราต้องการ ซึ่งก็จะขึ้นกับน้ำขึ้น น้ำลง ข้างขึ้น ข้างแรม กระแสลม เราก็นั่งยิ้ม ๆ รอไปและใช้เวลากับคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันไป แต่ก่อนผมทำงานที่พัทยาก็จริง พอช่วงมรสุมก็จะบินไปภูเก็ตบ่อย ๆ พอศุกร์เย็นก็จะไปแล้วครับ วันอาทิตย์ก็กลับ ที่เมืองไทยเราก็มีที่ที่เล่นได้หลายแห่ง อย่าง เขาหลักเซิร์ฟทาวน์ นี่ก็เป็นคอมมูนิตี้ที่ดึงดูดให้คนไปอยู่ได้นาน ๆ ทีละครึ่งเดือนก็มี ไม่ต้องไปไกลถึงออสเตรเลีย ฮาวาย หรือบาหลี ผมว่าเล่นบ้านเราดีกว่า อาหารอร่อย และค่าครองชีพก็ไม่แพง
...แต่ตอนนี้ย้ายมาอยู่ ‘ภูเขา’ คงต้องเริ่มหากิจกรรมใหม่แล้วครับ (ยิ้ม)