โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับมาตรการลดโอกาสการติดเชื้อ Covid-19 ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข 
อย่างเคร่งครัด มีการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อและกำหนดให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง มีการจัดการสัญจรเข้าออกอาคารด้วยประตูด้านหน้าและประตูด้านหลังของอาคาร โดยมีระบบระบายอากาศป้องกันเชื้อโรคแบบ double door เพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ยังจัดสรรพื้นที่ใช้สอยอาคารเพื่อแยกผู้ป่วย Covid-19 ออกจากผู้มารับบริการทั่วไป พร้อมทั้งจัดตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์เพื่อสะดวกต่อการล้างมือในทุกแผนกและทางเดิน
จัดระบบการเว้นระยะห่างระหว่างผู้ใช้บริการในทุกพื้นที่ การทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ บ่อยครั้งตามมาตรฐานสากล

สำหรับคุณพ่อคุณแม่

สำหรับคุณพ่อคุณแม่

คำถามที่พบบ่อย

คุณพ่อคุณแม่อาจมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ โภชนาการ และพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย
คุณหมอใจดีของเรามาช่วยตอบคำถามที่คุณพ่อคุณแม่อยากรู้ เพื่อให้นำไปปรับใช้กับลูกได้อย่างถูกต้องกันค่ะ

สำหรับทารกแรกเกิด ควรให้นมทุก 2-3 ชั่วโมง ครั้งละ 1-2 ออนซ์ และเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละ 2-4 ออนซ์ หรือ เท่ากับ 5.5 ออนซ์ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน เช่น หากทารกน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ปริมาณนมที่ควรได้รับต่อวัน คือ 5.5 x 4 = 22 ออนซ์ โดยในเด็กแรกเกิดจนถึงเด็กที่อายุ 6 เดือน การให้น้ำนมเพียงอย่างเดียวถือว่าเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของลูกแล้ว เมื่อลูกอายุมากกว่า 6 เดือน คุณแม่จึงสามารถให้ดื่มน้ำและลองทานอาหารเสริมได้ โดยคุณแม่อาจลองสังกตได้จากปริมาณน้ำนมที่ลูกกินมีปริมาณมากกว่า 32 ออนซ์ต่อวัน

เมื่อลูกมีอายุ 4-5 เดือน คุณแม่ควรเริ่มงดให้นมลูกในช่วงกลางคืน และเมื่อลูกมีอายุ 9 เดือน ควรงดให้ลูกดูดนมจากขวดหลังการให้อาหารเสริม

เมื่อลูกอายุครบ 1 ปี คุณแม่อาจงดให้นมในบางมื้อ และฝึกให้ลูกหัดดื่มจากถ้วยหรือแก้วเองโดยให้ลูกดื่มน้ำวันละ 2-4 แก้ว (เท่ากับ 16-24 ออนซ์) ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทั้งหมด 3 มื้อ


หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ลูกไม่ยอมกินนมอาจเกิดจากร่างกายไม่ปกติ ภาวะทางอารมณ์ หรือ สาเหตุอื่นๆได้ดังนี้
1. การติดเชื้อราในช่องปาก โดยสามารถสังเกตได้จากคราบสีขาวที่พบได้ภายในช่องปากหรือบริเวณลิ้น
2. อาการเจ็บเหงือก หรือ ฟันกำลังขึ้น ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
3. อาการอักเสบหรือติดเชื้อในหู อาจทำให้ลูกรู้สึกเจ็บปวดขณะดูดนมได้
4. เป็นหวัด คัดจมูก อาจส่งผลให้ลูกหายใจลำบาก มีอาการเจ็บคอ หรือ ระคายคอได้ขณะดูดนม
5. ปริมาณน้ำนมแม่ลดลง ทำให้ลูกกินนมแม่ได้น้อยลง ประกอบกับลูกดูดนมจากขวดนมจนติดจุกหลอกมากเกินไป
6. ความสับสนที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำของคุณแม่ หรือ คุณแม่ไม่ได้อยู่กับลูกเป็นเวลานาน เช่น ต้องไปทำงาน หรือ เดินทางไกล อาจทำให้ลูกไม่ได้รับน้ำนมเป็นเวลานานจนเกิดการสับสนได้
7. ลูกอาจถูกเบี่ยงเบนความสนใจโดยสิ่งแวดล้อมรอบข้างและทำให้ลูกสนใจกินนมแม่น้อยลง
8. ท่าให้นมของคุณแม่อาจไม่ถูกวิธี และทำให้ลูกเกิดความไม่สบายตัวหรือเจ็บปวดขณะดูดนมแม่จึงทำให้ลูกไม่อยากดูดนมแม่ได้
9. ปฏิกิริยารุนแรงที่คุณแม่แสดงต่อลูกเมื่อลูกกัดเวลาดูดนม อาจสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับลูกได้
10. การแสดงความเครียดของลูกเพราะถูกกระตุ้นให้ดื่มนมมากไป หรือ ถูกเปลี่ยนเวลาดื่มนม

ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานใดๆเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด19 ผ่านนมแม่ ในความเป็นจริงแล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงมีความสำคัญเนื่องจากน้ำนมแม่มีสารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ และลดอัตราการเสียชีวิตของทารกหลังคลอดรวมถึงเด็กเล็กได้ โดยคุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด
ทั้งนี้ทั้งนี้ ในเด็กที่อายุไม่ถึง 6 เดือน คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เมื่อลูกมีอายุมากกว่า 6 เดือน คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปพร้อมๆกับการให้ลูกทานอาหารเสริมได้

ทารกควรดื่มนมแม่จนถึงอายุประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นคุณแม่สามารถเริ่มให้ทารกรับประทานอาหารชนิดอื่นร่วมด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ทารกสามารถดื่มนมแม่ได้ต่อจนอายุครบ 1-2 ปี หรือ นานกว่านั้นตามความเหมาะสมและคำแนะนำของแพทย์

สาเหตุที่ทำให้ทารกหลับยาก หรือ ตื่นบ่อย มีด้วยกันหลายปัจจัย
1. สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมในการนอนสำคัญกับทารก โดยอุณหภูมิห้องที่เหมาะสมสำหรับการนอนของทารกอยู่ที่ประมาณ 24 – 26 องศาเซลเซียสและต้องเป็นอุณหภูมิห้องที่ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป รวมถึงควรให้ทารกนอนในห้องที่เงียบและไม่มีเสียงรบกวนเพราะสภาพแวดล้อมที่เสียงดังอาจทำให้ทารกตื่นได้

2. ทารกมีอาการเจ็บป่วย
หากทารกหลับยาก หรือ ตื่นบ่อยอาจเป็นสัญญาณบอกว่าทารกมีอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นหวัด ติดโคลิด หรือ ไม่สบายท้องได้ ในกรณีที่ทารกมีอาการไม่สบายท้องอาจเกิดจากทารกกินนมผงและไม่สามารถย่อยโปรตีนและน้ำตาลแลคโตสในนมได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดแก๊สในท้องและทำให้ไม่สบายท้องได้

3. ทารกกินนมมากเกินไป
การให้นมทารกทุก 1-2 ชั่วโมงในตอนกลางวัน หรือ ให้นมทุกครั้งที่ทารกร้องอาจสร้างความคุ้นเคยให้กับทารกที่โดยปกติเมื่อปากได้สัมผัสกับจุกนม หรือ หัวนมแล้วจะตอบสนองด้วยการดูด และทำให้คุณแม่เข้าใจว่าทารกหิว จึงป้อนนมให้ทารกบ่อยทารกเคยชินและมักตื่นมาร้องในช่วงกลางคืนเพื่อกินนมเหมือนในช่วงกลางวัน

4. ทารกกินนมบ่อยเกินไป
คุณแม่มักมีความเข้าใจว่าเมื่อทารกร้องหรือตื่น หมายความว่าทารกหิว เลยป้อนนมให้ทารกทุกครั้งที่ร้องจนทารกได้ดื่มนมเกินความต้องการและอาจทำให้เกิดอาการอึดอัด แน่นท้องจนทำให้ไม่สามารถนอนหลับสนิทได้

5. ทารกแพ้นม
อาการแพ้นมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการนอนหลับและทำให้ทารกหลับยาก เนื่องจากทารกอาจแพ้อาหารบางอย่างที่อยู่ในนมแม่เวลาที่คุณแม่รับประทานอาหารบางอย่างเข้าไป เช่น นมวัว อาหารทะเล ชีส และอื่นๆ หรือ อาจแพ้โปรตีนจากนมวัวที่อยู่ในนมผงได้ เมื่อทารกแพ้นม อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว หรือ อาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก หายใจไม่ออก หรือ หายใจครืดคราดได้

คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตเบื้องต้นว่า ลูกน้อยร้องไห้จากอาการป่วย หรือ ร้องไห้เพราะมีอาการโคลิค ในกรณีที่ลูกร้องไห้จากอาการโคลิค วิธีการเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ เช่น ลูกไปเดินเล่นในสถานที่ใหม่ๆ หรือ ให้ลูกได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิม หากลูกยังร้อง คุณพ่อคุณแม่อาจเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการหาจุกนมให้ลูกดูด ปลอบลูกอย่างอ่อนโยน กล่อมลูกด้วยการเปิดเพลงช้าๆ หรือ ลองให้ลูกนั่งเก้าอี้โยก เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เวลาลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณไม่ควรแสดงอาการโมโหและใช้อารมณ์ หรือ เขย่าตัวลูกเพื่อให้ลูกหยุดร้องเพราะอาจทำให้ลูกมีภาวะเลือดออกในสมองได้

ทั้งนี้ในการรักษาโคลิค คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจวินัจฉัยและหาสาเหตุของการร้องไห้ว่ามาจากโคลิคหรืออาการป่วยอื่นๆ

ตามข้อกำหนดของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ ได้แก่ วัคซีนวัณโรค วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนโปลิโอ วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนโรคสุกใส วัคซีนโรต้า และวัคซีนตับอักเสบเอ เป็นต้น คลิกดูแพ็กเกจวัคซีนสำหรับเด็ก

พัฒนาการทางด้านภาษาถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และส่งผลต่อทั้งความฉลาดทางปัญญา หรือ IQ (Intelligence Quotient) และ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Quotient) หากเด็กมีอายุได้ 1 ปีครึ่ง และยังไม่พูดแม้แต่คำเดี่ยวๆ อาจเป็นสัญญาณของพัฒนาการภาษาล่าช้า โดยอาจมีที่มามาจากสองสาเหตุหลักได้แก่
1. ปัญหาพัฒนาการ เช่น พัฒนาการภาษาล่าช้า, มีภาวะออทิสติก (Autism), สติปัญญาล่าช้า (mental retardation) หรือ ปัญหาการได้ยิน (deafness)
2. การกระตุ้นและการส่งเสริมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้ลูกดูหน้าจอมากเกินไป หรือ การขาดการดูแลจากผู้เลี้ยงดู (understimulation, neglect)
ดังนั้นหากลูกน้อยอายุครบหนึ่งปีครั้งและยังไม่ยอมพูด ควรรีบพามาพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของลูกได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. คุณพ่อคุณแม่ควรพูดชัดถ้อยชัดคำ ถูกต้อง และพูดอย่างช้าๆ รวมถึงการใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและอ่อนหวาน ในการสื่อสารอาจใช้ประโยคง่ายๆในการพูดคุยกับลูก
2. ขณะสื่อสารกับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติและใช้ประโยคที่สมบูรณ์
3. ขณะคุณพ่อคุณแม่สนทนากับลูก ควรนั่งใกล้ลูกและสบตาลูกให้มากที่สุด
4. เมื่อลูกอายุมากกว่า 12 เดือนขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาแบบที่ใช้เมื่อลูกยังเป็นเด็ก
5. คุณพ่อคุณแม่ควรกระตือรือร้นกับสิ่งที่ลูกพูด และรับฟังอย่างตั้งใจ รวมถึงการให้คำชมเชยและกำลังใจแก่ลูกด้วยการแสดงสีหน้าท่าทางที่มากกว่าปกติ

ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีการดังกล่าวที่คุณหมอแนะนำมาทั้งหมด คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างบรรยากาศให้เกิดความเพลิดเพลินและให้ลูกเกิดความสนุกไปด้วย

หลายครั้งที่เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความโกรธของตนเองได้โดยอาจมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก
1. ด้านร่างกาย: โครงสร้างทางสมองและระดับการสื่อสารที่ไม่สมดุล รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น สมาธิสั้น ไบโพลาร์ หรือ ออทิสติก อาจส่งผลต่ออารมณ์ของเด็กและทำให้เด็กมีอาการหงุดหงิด ใจร้อน หรือ มีอาการซึมเศร้าได้

2. ด้านจิตใจ: อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กโกรธง่ายอาจมาจากพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กอยู่แล้ว เช่น เป็นเด็กขี้โมโห เจ้าอารมณ์ หรือ ขาดความอดทน เป็นต้น

3. สภาพแวดล้อม: สภาพแวดล้อมก็มีผลต่ออารมณ์ของเด็กได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้เนื้อหาความรุนแรงจากสื่อต่างๆ หรือ การเลี้ยงดู เช่น การเติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เป็นต้น

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 เทคนิคการเพิ่มความสูงให้กับลูกประกอบไปด้วย
1. การรับประทานให้ครบ 5 หมู่: การเพิ่มความสูงให้กับลูกต้องเริ่มจากการรับประทานโดยคุณพ่อคุณแม่ต้องทำรายการอาหารในแต่ละวันว่าควรให้ลูกรับประทานอะไรบ้าง

นอกเหนือจากนมซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสูงแล้ว โปรตีนกับแคลเซียมก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน โดยคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานปลาเพราะปลาเป็นแหล่งของแคลเซียม เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนสูง อย่าง ไข่ไก่, เนื้อสัตว์, อัลมอนด์, ถั่วเหลือง, บรอกโคลี และพืชตระกูลถั่ว งา  เป็นต้น

2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ เล่นกีฬาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สามารถช่วยเพิ่มความสูงให้กับลูกได้

3. การนอน: คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเข้านอนก่อนสี่ทุ่มและอย่าให้ลูกนอนดึกเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ เมื่อร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ ระบบในร่างกายก็จะทำงานได้ดีในขณะเดียวกัน Growth Hormone หรือ ฮอร์โมนแห่งการเติบโตก็จะหลั่งออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลูกน้อยเติบโตเร็วขึ้นและทำให้ลูกน้อยมีโอกาสสูงขึ้นไม่มากก็น้อยแม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องความสูงคือพันธุกรรมมาเป็นอุปสรรคก็ตาม

4. หลีกเลี่ยงให้ลูกดื่มน้ำอัดลม: การดื่มน้ำอัดลมเป็นการขับแคลเซียมออกจากร่างกายทำให้เด็กไม่สามารถเติบโตและสูงได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคกระดูกสึกกร่อนและโรคอ้วนได้เช่นกัน

โดยธรรมชาติ ทารกที่อายุ 4-5 เดือนจะมีพฤติกรรมดูดนิ้วเนื่องจากในช่วงวัยดังกล่าว ทารกจะเริ่มสำรวจสิ่งรอบข้าง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังไม่ห้ามทารกหรือดึงนิ้วทารกออกเวลาดูดนิ้วเพราะทารกอาจหันไปดูดหรืออมของเล่นแทน

สำหรับพฤติกรรมดูดนิ้วในเด็กที่มีอายุโตกว่ามักเกิดจากความเคยชิน วิธีแก้ไขคือควรหาของเล่นหรือกิจกรรมให้เด็กๆทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและไม่ควรดึงนิ้วของเด็กออกขณะเด็กกำลังดูดนิ้วเพราะจะทำให้เด็กเกิดอาการตกใจได้

เมื่อลูกทานน้อยหรือเบื่ออาหารอาจเกิดจากความเบื่อหน่ายที่ต้องรับประทานแต่ของที่มีประโยชน์ตามที่คุณพ่อคุณแม่ได้สร้างวินัยไว้ให้หรือคาดหวังให้ลูกรับประทาน คุณพ่อคุณแม่ควรเข้มงวดไม่ให้ลูกทานขนมคบเคี้ยวและอดทนรอจนกระทั่งหิว ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ก็เตรียมอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติดีในปริมาณที่เหมาะสมให้ลูกทานจนหมดและอิ่ม คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารในแต่ละมื้อไม่เกิน 30 นาที และไม่ควรบังคับหรือยัดเยียดให้ลูกทานมากจนเกินไป หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ลูกนอนหายใจเสียงดังมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น เป็นหวัด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ภาวะต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์โต หรือ ปัญหาการนอนต่างๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา ไม่ควรปล่อยปะละเลยเพราะอาจส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์ พัฒนาการสมองและการเรียนรู้ได้ นอกจากนี้การนอนหลับไม่เพียงพอ หากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลให้เด็กมีอาการกระตุกและขาดอากาศในเวลากลางคืนขณะนอนได้

ปัจจัยด้านพันธุกรรมและการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่คือสองปัจจัยหลักที่ทำให้ลูกมีพฤติกรมพูดติดอ่าง โดยทั่วไปเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการติดอ่าง และ ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อเข้าสู่วัยเรียน แต่หากเด็กพูดติดอ่างบ่อยขึ้นประกอบกับมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือรูปหน้าผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของสภาวะที่ผิดปกติได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการพูดติดอ่าง สามารถใช้วิธีเบื้องต้นเหล่านี้เพื่อทำให้ลูกมีอาการดีขึ้นได้
1. สร้างความมั่นใจให้กับลูกให้ลูกเกิดความมั่นใจในตัวเอง กล้าพูดกล้าคุย ไม่มีความกังวลหรือเขินอายกับอาการพูดติดอ่าง
2. ควรแสดงความกระตือรือร้นเมื่อลูกพูด ฟังอย่างตั้งใจ ไม่แสดงความเบื่อหน่าย และไม่ขัดจังหวะลูกขณะพูด
3. ควรสร้างบรรยากาศให้ลูกเกิดความรู้สึกสนุกสนานและเพลิดเพลิน เช่น ตกแต่งห้องโดยวางตุ๊กตาตัวโปรดของลูกไว้ จัดมุมหนังสือที่ลูกชอบไว้ลูกอ่าน และในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ทำกิจกรรมร่วมกับลูก ไม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจของลูกด้วย เปิดทีวีหรือเพลงเสียงดัง และ ปล่อยให้ลูกเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
4. ไม่ควรทำให้ลูกเกิดความรู้สึกอึดอัด หรือ สูญเสียความเชื่อมั่น เช่น บังคับให้ลูกพูดในที่สาธารณะหรือต่อหน้าคนจำนวนมาก
5. ส่งเสริมให้ลูกได้ฝึกสมาธิในการพูดด้วยกิจกรรมง่ายๆ เช่น การร้องเพลง โดยอาจให้ลูกฝึกร้องเพลงง่ายๆ จังหวะไม่เร็วจนเกินไป
6. มอบความรักและความอบอุ่นแก่ลูก คือ วิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาและสร้างความมั่นใจให้กับลูก ท้ายที่สุดอาการพูดติดอ่างของลูกก็จะดีขึ้นได้ตามลำดับ

โรคภูมิแพ้ในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่
1. การถ่ายทอดทางพันธุกรรม: ในกรณีที่พ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากกว่าคนอื่นหลายเท่า

2. สิ่งแวดล้อม: สารก่อภูมิแพ้ เช่น สัตว์เลี้ยง แมลงสาบ ควันบุหรี่ ฝุ่น ไรฝุ่น รวมถึงอาหารบางอย่าง เช่น อาหารทะเล นมวัว ไข่ แป้งสาลี หรือ ถั่วลิสง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อาการของโรคภูมิแพ้ในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย
1. ระบบผิวหนัง: เป็นผื่นลมพิษ มีอาการคัน และผิวแห้ง
2. ระบบทางเดินหายใจ: เป็นหวัดบ่อย เป็นหวัดเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ อาการไอเมื่ออากาศเปลี่ยน หรือ มีอาการไอในบางเวลา บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เช่น หายใจแรง หายใจเร็ว หรือ หายใจมีเสียง “วี๊ด” หอบเหนื่อย และ แน่นหน้าอก เป็นต้น
3. ระบบทางเดินอาหาร: ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว สำหรับเด็กทารก อาจพบอาการแหวะนมได้บ่อยครั้ง

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็กสามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ ได้แก่
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น หรือ สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
5. การพบแพทย์เพื่อตรวจวินัยฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

อาการท้องอืดของเด็กอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร ร้องไห้มากไป หรือ ดื่มนมมากเกินไป โดยในกรณีที่ลูกมีอาการท้องอืดจากการดื่มนมมากไป คุณพ่อคุณแม่ควรจับลูกเรอเพื่อให้ลูกได้สบายท้องขึ้น

ในกรณีที่ลูกมีอาการท้องผูกและถ่ายทุกวันโดยลักษณะของอุจจาระมีคล้ายกับอุจจาระของกระต่าย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เนื่องจากอาการดังกล่าวถือเป็นอาการที่ไม่ปกติโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน หากปล่อยปะละเลย อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

สำหรับอาการท้องเสียที่ลูกมีอาการถ่ายเหลวมาก หรือ มีกลิ่นเหม็นผิดปกติมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเนื่องจากลูกอาจมีภาวะเสี่ยงขาดสารอาหาร หรือ ขาดน้ำได้

แท้จริงแล้วประโยชน์ของการไปโรงเรียนเพื่อเรียนกับครูมีสอนมีความสำคัญมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นมาตรการการป้องกัน เช่น สวมใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง การจำกัดจำนวนนักเรียนในห้อง และการฉีดวัคซีนให้แก่คุณครู นักเรียน และบุคลากร สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโควิด19 ภายในโรงเรียนได้

สวัสดีครับ คุณลุงหมอ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ที่ดูแลเด็กๆ ด้านกุมารเวชศาสตร์ทั่วไป มาเป็นระยะเวลากว่า  40 ปี โดยเฉพาะถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการปรึกษาเรื่องโรคไข้เลือดออก หอบหืด หรือวัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็ก หรือคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนใหม่ๆ ที่วงการแพทย์กำลังให้ความสนใจ ก็สามารถสอบถามเข้ามาได้นะครับ

ที่จริงแล้ว คุณลุงหมอเป็นชาวจังหวัด สมุทรปราการ  แต่มาเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ จนจบการศึกษาระดับปริญญาทางการแพทย์, แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ 2518 และศึกษาต่อด้านกุมารเวชศาสตร์ จนจบในปี พ.ศ. 2522 คุณลุงหมอจึงพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และอู้กำเมืองได้นิดหน่อยครับ

ยามว่าง คุณลุงหมอก็จะใช้เวลาอยู่ในสวน และพาหลานตัวเล็กๆ หลายคนไปทำกิจกรรมกลางแจ้งที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น สอนการปลูกผัก การเลี้ยงไก่ การเก็บไข่ไก่ ฯลฯ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ สนุกสนาน และยังเป็นการออกกำลังกายอีกด้วย ถ้าเด็กๆ อยากจะมีร่างกายที่แข็งแรงต้องหมั่นออกกำลังกายนะครับ