การ กระตุ้นสมอง ด้วยสนามแม่เหล็ก ‘TMS’ ทางเลือกใหม่ในการรักษา โรคซึมเศร้า - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

“TMS” ทางเลือกใหม่ในการรักษา “โรคซึมเศร้า”

 

“หลายครั้งอยากจะทำอะไร อยากจะมีความสุข แต่มันไม่ได้มีอารมณ์พอที่จะทำอย่างนั้น

อย่าว่าแต่ยิ้มเลย แค่ผ่านไปให้ได้ในแต่ละวันยังเป็นเรื่องยากเลย”

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่พบ 1 ใน 10 ของประชากรทั่วไป โรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นแค่โรคของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง แต่มันส่งผลกระทบมากกว่านั้น ทั้งสมาธิความจำที่แย่ลง การนอนที่มีปัญหา การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องการทำงาน การเรียน และโรคซึมเศร้ายังส่งผลให้การอยู่ร่วมกับคนรอบข้างเปลี่ยนไปจากเดิม 

โรคซึมเศร้า เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะความเครียด วิกฤตในชีวิตหรือประสบการณ์ที่เจ็บปวดในอดีตเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยด้านร่างกายที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านกรรมพันธุ์ในครอบครัว รวมถึงความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่เสียสมดุลไป แม้ว่าเรื่องแย่ๆ จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผลกระทบจากความเครียดต่อสมองและความผิดปกติในสมองเองอาจจะยังคงอยู่ ทำให้อาการซึมเศร้ายังไม่ดีขึ้น

 

การทำร้ายตัวเองเป็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เนื่องจากความรู้สึก การรับรู้ และมุมมองของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปในแง่ลบจากตัวโรค ในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการประสาทหลอน หรือควบคุมตัวเองไม่ได้

 

หากพบว่าความรู้สึกและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป มีอารมณ์เศร้ามากขึ้น ไม่สนใจสิ่งที่เคยชอบทำอย่างที่เคยเป็น แนะนำให้พบจิตแพทย์เพื่อรับการประเมินและการรักษา ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้ามีทั้งการรักษาด้วยยาและการให้คำปรึกษา แต่พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 30 อาการไม่ดีขึ้น มีแนวโน้มดื้อต่อการรักษาปกติ ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางการรักษาด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่นำมาใช้เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ นั่นคือ การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation)

 

กระตุ้นสมอง ด้วยคลื่นแม่เหล็ก รักษาโรคซึมเศร้า - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

สอบถามเพิ่มเติม
การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นการกระตุ้นสมองบริเวณส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ผ่านกะโหลกศรีษะ เพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า และสามารถใช้ในการรักษาโรคจิตเวชอื่นๆ ได้ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล ภาวะติดสารเสพติด เป็นต้น  ทั้งเป็นการรักษาที่ปลอดภัย พบผลข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น มีอาการปวดศรีษะ วิงเวียนศรีษะ หรือคลื่นไส้ เป็นต้น ไม่ต้องดมยาสลบ หรือฝังเครื่องมือใดๆ ในร่างกาย สามารถมารักษาแบบผู้ป่วยนอกและเดินทางกลับบ้านได้หลังรับการรักษา 

 

ในการรักษาโรคซึมเศร้า ใช้ระยะเวลาแต่ละครั้งประมาณ 45 นาที จำนวนครั้งของการรักษาประมาณ 20-30 ครั้ง ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งทำให้โรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยามีอาการดีขึ้น

 

ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้า และโรคจิตเวชอื่นมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น มีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมไปถึง การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) ซึ่งจะช่วยให้อาการของโรคและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชอื่นดีขึ้นได้

 

“รอยยิ้มที่หายไปและสุขภาพใจสามารถเยียวยาได้

หากโรคซึมเศร้าและปัญหาด้านสุขภาพใจได้รับการรักษา”

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นพ. ดนัย อินทรกำแหง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์

 

 

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แผนกจิตรักษ์ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร 052 089 888 หรือ Call Center 1719

สาระสุขภาพ