การปฐมพยาบาลเมื่อบาดเจ็บจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

การละเล่นที่มักจะพบเสมอในช่วงเทศกาลลอยกระทง นอกจากจะเป็นการลอยกระทงเองแล้ว ก็ยังมีการเล่นประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ซึ่งมีส่วนประกอบที่เป็นสารวัตถุระเบิดอันตราย และปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาจนสามารถสร้างแรงระเบิดได้รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เด็กและวัยรุ่น ซึ่งในบางครั้งอาจเล่นผาดโผนดัดแปลงเพื่อความสนุก จากความคึกคะนองตามวัย และขาดความระมัดระวัง จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการเล่นได้

การเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของการบาดเจ็บ และลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียอวัยวะได้

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดการบาดเจ็บ สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่าน หรือแช่อวัยวะส่วนที่เป็นแผลในน้ำสะอาดประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะลดลง
  • ถอดเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ถ้าถอดออกลำบากควรตัดออกเป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่น ก็ไม่ต้องดึงออก แต่ใช้ผ้าสะอาดคลุมแทน
  • ไม่ควรชโลมหรือทาตัวยา ครีม หรือสารใด ๆ ลงบนบาดแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำปลา เครื่องปรุง ยาสีฟัน และยาหม่อง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น
  • ใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วยเอาไว้ เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ (ในกรณีที่ผิวหนังเสียหน้าที่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลง ซึ่งผิวหนังจะเกิดภาวะหนาวสั่นได้)

บาดแผลที่มีอวัยวะส่วนปลายถูกตัดขาด ต้องทำอย่างไร?

  • ให้ทำการห้ามเลือด โดยการกดและยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูง
  • เก็บชิ้นส่วนอวัยวะที่ถูกตัดขาดด้วยวิธีดังนี้
    1. วางส่วนที่ขาดใส่ถุงพลาสติกที่แห้งและสะอาดเพื่อป้องกันอวัยวะนั้นแห้ง
    2. ปิดปากถุงให้แน่น ห้ามใช้ยาฆ่าเชื้อโรคหรือล้างส่วนที่ขาดนั้น
    3. ปิดปากถุงให้แน่น ห้ามใช้ยาฆ่าเชื้อโรคหรือล้างส่วนที่ขาดนั้น
  • ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว พร้อมอวัยวะส่วนที่ขาด

 

ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
หมายเลขโทรศัพท์ 052-089-888