เตรียมตัวรับมือปัญหาหมอกควัน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

หมอกควันซึ่งมาจากการเผาป่า ในช่วง ก.พ.ถึง เม.ย.ของทุกปี ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพกับประชาชนทางภาคเหนือมานานหลายปี ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพจากหมอกควันมีตั้งแต่ ระบบผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแพ้ ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ส่งผลต่อโรคหัวใจ ตลอดจนโรคระบบการหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้อากาศกำเริบ  หอบหืดกำเริบ  ถุงลมโป่งพองหอบกำเริบ เป็นต้น ทั้งนี้ผลจากการเผาไหม้จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กและใหญ่ แต่ฝุ่นละอองที่มีผลต่อระบบการหายใจคือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (particulate matter : PM10) เนื่องจากสามารถผ่านเข้าไปในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ นอกจากฝุ่นละออง PM 10 แล้ว ยังมีฝุ่นละออง PM 2.5 (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน) ซึ่งมีขนาดที่เล็กลงไปอีก และส่งผลกระทบต่อร่างกายเช่นเดียวกัน

ดังนั้นเมื่อฤดูหมอกควันมาถึงเราจึงควรมีการเตรียมตัวรับมือกับหมอกควัน ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่แนะนำนั้นจะขึ้นอยู่กับ ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ซึ่งค่าของดัชนีคุณภาพอากาศได้จากการคำนวณเทียบมาตรฐานคุณภาพบรรยากาศทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ ได้แก่ ก๊าซโอโซนเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เฉลี่ย 24ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า10ไมครอนหรือ 2.5 ไมครอนเฉลี่ย 24 ชั่วโมง การกำหนดค่าระดับ PM 10 , PM 2.5 หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศ ที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพประชาชนและแนวทางการปฏิบัตินั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดในแต่ละประเทศ โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ของระดับ PM 10 เฉลี่ย24 ชั่วโมง เท่ากับ 50 มคก./ลบ.ม. สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดระดับ PM 10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ เท่ากับ 150 มคก./ลบ.ม. ส่วนประเทศไทยนั้นกำหนดระดับ PM 10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ เท่ากับ 120 มคก./ลบ.ม.

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ และแนวทางปฏิบัติ โดยกระทรวงสารณสุขและกรมควบคุมมลพิษ ปี 2558 ได้แบ่งเป็น 5 ระดับ ตามระดับ PM 10 ดังตาราง

(กรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย ยังไม่ได้นำระดับฝุ่น PM 2.5 มาใช้ในการประเมิน)

ประชาชนกลุ่มเสี่ยง* ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบการหายใจเช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยโรคหัวใจ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ และแนวทางปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกา จาก www.epa.gov แบ่งเป็น 6 ระดับ ดังตาราง

จากคำแนะนำดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกัน โดยหากพบว่าคุณภาพอากาศเริ่มมีผลต่อสุขภาพ ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคารที่ต้องออกแรงมาก เช่นการออกกำลังกาย การเดินอย่างเร่งรีบหรือวิ่ง เพราะจะทำให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้น จึงสูดอากาศที่มีฝุ่นละอองหรือมลพิษเข้าไปมากขึ้น และถ้าเป็นไปได้ควรย้ายมาทำกิจกรรมในอาคารแทน เช่นออกกำลังกายในอาคาร หรือหากจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมนอกอาคารจริงๆ ในวันที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ซึ่งถ้าเป็นไปได้ควรใช้เป็นหน้ากากชนิด N95 เพราะสามารถกันฝุ่นชนิด PM 2.5 ได้ (กันฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้อย่างน้อย 95%) และขณะอยู่ในอาคารอาจลดปริมาณฝุ่นในอาคารด้วยวิธีปิดหน้าต่าง เปิดเครื่องปรับอากาศโดยปรับเครื่องปรับอากาศให้ใช้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนแทนที่จะดึงเอาอากาศภายนอกเข้ามา หรือพิจารณาใช้เครื่องฟอกอากาศร่วมด้วย

หมายเหตุ

  • ค่าระดับ PM 10 และ คุณภาพอากาศ สามารถ update ได้จาก pcd.go.th (กรมควบคุมมลพิษ)  หรือ application air4thai (android & iOS)  * แต่จะไม่มีการนำ PM 2.5 มาประเมินคุณภาพอากาศ
  • หากต้องการติดตามคุณภาพอากาศจากการประเมินระดับ PM 2.5 นั้นอาจติดตามได้จาก aqicn.org (เป็นองค์กรเอกชนโดยความร่วมมือของหลายประเทศ โดยมีศูนย์ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง)   หรือ application Airquality (Android)  หรือ application Air vistual (Android & iOS)
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แน่นอก เหนื่อยง่าย ไอ หายใจลำบาก ผิดปกติ ควรพบแพทย์

เอกสารอ้างอิง แนวทางการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ กระทรวงสารณสุข 2558, WHO 2005, Air Quality index US EPA 2014, www.epa.gov

 

นพ.สมภพ มหัทธนพรรค
อายุรแพทย์ระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบการหายใจ
รพ.กรุงเทพเชียงใหม่ โทร. 0-5208-9823