ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) หรือที่เรียกกันอย่างง่ายว่า “น้ำตาลตก” เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่นาที โดยมีเกณฑ์วินิจฉัยภาวะน้ำตาลต่ำ คือระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นสูง กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน หรือเมื่อไตเสื่อมการทำงาน

 

อาการของผู้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ในระยะแรกที่ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำไม่มาก ผู้ป่วยจะมีสัญญาณเตือน ได้แก่ เวียนศีรษะ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกหิว เหงื่อออก มือสั่น กระสับกระส่าย คลื่นไส้ ชา หากอาการดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วจะ ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการทางสมอง ได้แก่ อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ สับสน ตาพร่ามัว ง่วงซึม ยิ่งหากระยะเวลานานความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นอาจทำให้มีอาการชัก หรือหมดสติได้

 

สาเหตุของการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

  1. การใช้ยามากเกินขนาดที่กำหนด
  2. การรับประทานยา หรือฉีดยาเบาหวานไม่ตรงเวลา
  3. การใช้แรงหรือออกกำลังกายมากเกินไป
  4. การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรืองดรับประทานอาหารบางมื้อ

วิธีการป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

  1. ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและปริมาณใกล้เคียงกันในแต่ละมื้อ
  2. รับประทานยาและฉีดยาให้ถูกขนาด และตรงเวลาตามที่แพทย์กำหนด
  3. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอลดปริมาณยาก่อนที่จะต้องมีการใช้แรงหรือออกกำลังกายอย่างหักโหม และควรรับประทานอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย
  4. ควรพกน้ำตาล ลูกอม หรือน้ำผลไม้ติดตัวไว้เสมอ เพื่อรับประทานเวลาเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  5. ควรให้ความรู้คนรอบตัวเรื่องภาวะระดับน้ำตาลต่ำ รวมถึงวิธีสังเกตอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในเวลาฉุกเฉิน
  6. ควรใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง โดยเครื่องจะแจ้งเตือนเมื่อมีภาวะน้ำตาลต่ำ
  7. ควรเจาะวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้ว เมื่อมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เพื่อยืนยันค่าระดับน้ำตาลว่าต่ำจริงหรือไม่ มักต่ำเวลาไหน ต่ำรุนแรงแค่ไหน เพื่อแพทย์จะได้ปรับปริมาณยาได้อย่างเหมาะสม
  8. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยเบาหวาน หากไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การรู้จักสังเกตุอาการและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม สามารถช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระดับรุนแรงได้

การแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเบื้องต้น

  1. ให้รีบรับประทานคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ลูกอม 3 เม็ด น้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อมปริมาณ 30 ซีซี น้ำผลไม้ หรือน้ำหวานครึ่งแก้ว กล้วยหรือส้ม 1-2 ผล
  2. ติดตาม อาการหลังจากรับประทานแล้ว 15 นาที โดยสามารถใช้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา หากระดับน้ำตาลในเลือดยังคงต่ำอยู่ (ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ให้รับประทานซ้ำอีกครั้ง หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งตัวผู้ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรเบอร์ 1719

 

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง เช่น หมดสติหรือชักให้แก้ไขดังนี้

  1. ประคองผู้ป่วยนั่งหรือยกศีรษะสูง แล้วใช้น้ำหวานข้นๆ หรือน้ำเชื่อมป้ายบริเวณกระพุ้งแก้ม แต่ระวังการสำลัก
  2. จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก “คลินิกเบาหวาน”

แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร. 052 089 888  หรือ Call Center 1719

Line Official @bangkokchiangmai