ตาแห้ง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและพบได้ในทุกเพศทุกวัย แม้ว่าอาการตาแห้งส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่การปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่ทำการรักษาจะทำให้อาการเคืองตารุนแรงยิ่งขึ้น จนอาจเกิดการอักเสบเรื้อรังรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเป็นแผลที่กระจกตา และเสียการมองเห็นได้
ตาแห้ง เป็นโรคตาที่เกิดจากระบบต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอ หรือมีการระเหยของน้ำตาที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการไม่สบายตา เช่น เคืองตา แสบตา ตาแห้ง เป็นต้น
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะตาแห้ง
- การสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ (Aqueous Tear Deficiency) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้แก่
- กลุ่มโรค Sjogren’s Syndrome อาจเกิดจากกลุ่มโรคข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือไม่พบสาเหตุ(Primary Sjogren’s Syndrome)
- กลุ่มที่ไม่ใช่ Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ แพ้ยารุนแรง การอักเสบจนท่อน้ำตาจากต่อมน้ำตาตัน หรือการที่มีกระจกตาอักเสบ มีการรับรู้ผิดปกติ การใส่คอนแทคเลนส์นาน ๆ ทำให้การกระตุ้นน้ำตาตามธรรมชาติผิดไปจากเดิม โดยโรคเหล่านี้ส่งผลให้ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติจึงผลิตน้ำตาน้อยและตาแห้ง
- ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกายผลิตน้ำได้น้อยลง รวมทั้งสารคัดหลั่งต่าง ๆ
- การใช้ยาบางประเภทที่ส่งผลให้ตาแห้ง เพราะลดการสร้างน้ำตา ถ้าใช้หลายชนิดอาจทำให้ตาแห้งได้มากขึ้น เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต ยาคลายเครียดบางชนิด ฯลฯ
- การที่น้ำตาระเหยเร็วหรือมีคุณสมบัติผิดปกติ (Evaporative Dry Eyes) ได้แก่
- กลุ่มต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติหรืออุดตัน (Meibomian Gland Dysfunction) เปลือกตาอักเสบ เมื่อชั้นไขมันเกิดความผิดปกติ จะทำให้น้ำตาระเหยเร็ว
- กลุ่มที่มีความผิดปกติของเปลือกตา เช่น การปิดตาไม่สนิท การกะพริบตาน้อยผิดปกติ ฯลฯ
- ภาวะหลังจากโดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาจนอาจเกิดแผลเป็น ทำให้การสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตามีปัญหา
- การใช้สายตามากเกินไป พบมากในวัยทำงาน จากการใช้งานคอมพิวเตอร์และสวมคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นตัวการดูดน้ำออกจากลูกตา ทำให้ตาแห้ง เมื่อรวมกับพฤติกรรมชอบจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา ทำให้กระตุ้นน้ำตาออกมาน้อยและระเหยเร็ว
สัญญาณเตือนของอาการภาวะตาแห้ง
- ระคายเคืองตา คันตา แสบตา หรือรู้สึกไม่สบายตา
- ตามัว มองไม่ชัดเป็นครั้งคราว / ตาล้าง่าย
- มีความรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมคล้ายทรายหรือฝุ่นอยู่ในตา
- แพ้แสง แพ้ลม น้ำตาอาจไหลมาก เพราะเคืองตา
- ตาแดง และหรือมีขี้ตาแบบเมือกร่วมด้วย
- บริเวณตาขาวมีสีแดงจากการอักเสบ ขอบเปลือกตาแดง
- รู้สึกไม่สบายตา ลำบากเมื่อตอนลืมตาในช่วงตื่นนอนตอนเช้า
ผลที่ตามมาจากภาวะตาแห้ง หากปล่อยให้มีภาวะตาแห้งโดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น
- การอักเสบของเปลือกตา
- การดึงรั้งของเปลือกตาทำให้ขนตาลงมาทิ่มตา
- กระจกตาเป็นแผล
วิธีป้องกันภาวะตาแห้งเบื้องต้น
- การปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้ถูกต้อง พักสายตาทุก 20นาที โดยมองไกลๆ20ฟุต นาน20วินาที
- งดการใช้คอนแทคเลนส์ต่อเนื่อง ควรมีการหยุดพักโดยใส่แว่นสลับใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ
- เตือนตัวเองให้กะพริบตาให้บ่อย น้ำตาจะได้เคลือบตาอยู่เป็นระยะ ๆ
- หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน ลมแรง แนะนำให้สวมแว่นเพื่อกันแดดกันลม
- กินอาหารให้ครบทุกหมู่และอาหารที่มีโอเมกา 3 (Omega 3 Fatty Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบบรรเทาอาการตาแห้งได้
หากมีอาการรุนแรงหลังจากปรับการใช้งานสายตาแล้วอาการของภาวะตาแห้งไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับคำปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้
การตรวจวินิจฉัย
- การซักประวัติผู้ป่วย เช่น อาการ ประวัติสุขภาพ ประวัติการใช้ยา เป็นต้น เพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงที่มีผลให้เกิดภาวะตาแห้ง
- การตรวจดูคุณภาพของน้ำตา
- การตรวจวัดปริมาณน้ำตา
- การตรวจต่อมน้ำตาไมโบเมียนด้วยกล้องชนิดพิเศษที่เรียกว่า Meibography เพื่อดูความเสียหายของต่อมน้ำตา
การรักษา
- การใช้ยารักษา ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความรุนแรงของภาวะตาแห้ง
- น้ำตาเทียม มีทั้งแบบยาหยอดตา เจล หรือขี้ผึ้งป้ายตา
- ยาลดการอักเสบของเปลือกตา เช่น ยาปฏิชีวนะ Azithromycin, Doxycycline
- ยาหยอดตาที่ช่วยลดการอักเสบของผิวดวงตา เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือ ยากดภูมิ Cyclosporine
- ยากระตุ้นการสร้างน้ำตา เช่น Diquafosol เป็นต้น
- ซีรัมของตนเอง (Autologous serum) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยคนนั้นๆ มาทำเป็นยาหยอดตา
- การนวดและทำความสะอาดเปลือกตา การกดรีดไขมันตามแนวการวางตัวของต่อมไมโบเมียนที่ขอบเปลือกตา เพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่อยู่บริเวณรอบเปลือกตา
- การรักษาด้วยแสงIPL (Intense Pulse Light) เพื่อช่วยเกิดการลดและตัดวงจรการอักเสบที่เปลือกตา ช่วยให้ไขมันที่ผลิดจากต่อมผลิตไขมัน (Meibomian Gland) ละลายตัวและลดการอุดตัน และส่งผลในระยะยาวให้การสร้างน้ำตาดีขึ้นได้ คลิกที่นี่ปรึกษารับการตรวจด้วยเครื่อง IPL
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน และพักสายตาเป็นระยะๆ รวมถึงการทำความสะอาดเปลือกตาด้วยน้ำยาพิเศษ เพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่อยู่บริเวณรอบเปลือกตา
- การประคบน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 41-43 องศาเซลเซียสเป็นประจำเช้า-เย็น
IPL หรือ Intense Pulse Light เป็นการรักษาภาวะตาแห้งหรือโรคเปลือกตาอักเสบเรื้อรังด้วยแสงในช่วงความยาวคลื่นเฉพาะ พลังงานที่ถูกปล่อยออกมาจะมีลักษณะเหมือนไฟแฟลชจากกล้องถ่ายภาพ โดยคลื่นแสงที่ใช้ในการรักษาตาแห้งเรื้อรังจะไปมีผลกับเส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติที่เปลือกตาให้หดตัวลง จึงทำให้สามารถเป็นผลให้เกิดการลดและตัดวงจรการอักเสบที่เปลือกตา และยังมีผลให้ไขมันที่ผลิดจากต่อมผลิตไขมัน (Meibomian Gland) ละลายตัวและลดการอุดตัน และส่งผลให้การสร้างน้ำตาดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้แสงยังช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย และตัวไรที่ขนตา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของเปลือกตาและภาวะตาแห้งเรื้อรังได้
การรักษาตาแห้งเรื้อรังด้วยแสง IPL เหมาะสำหรับกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยในโรคต่อไปนี้
- เปลือกตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ ตัวไรขนตา (Demodex)
- ต่อมผลิตไขมันเสื่อมสภาพ (Meibomian Gland Dysfunction)
ผู้ป่วยจะได้พบกับจักษุแพทย์เพื่อประเมินภาวะตาแห้งเบื้องต้นก่อน เพื่อวางแผนกการรักษาเนื่องจากการรักษาด้วยแสง IPL นั้น จะเป็นการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งโดยปกติการรักษาแนะนำทำการรักษาประมาณ 4-8 ครั้งขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเหมาะสมสำหรับการรักษา ผู้ป่วยสามารถเริ่มรักษาได้ทันที และหลังจากการรักษาด้วยแสงแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือ การทำบีบ/กดรีดต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาผ่านกล้องจุลทรรศน์โดยจักษุแพทย์เพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการรักษาตาแห้งเรื้อรัง
การดูแลตนเองหลังการรักษาตาแห้งเรื้อรังด้วยแสง IPL
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดนแสงแดดเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังทำหัตถการ
- ทาครีมกันแดด SPF 50 ขึ้นไป วันละประมาณ 4 ครั้ง
- หยอดยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อประสิทธิภาพของการรักษา
หากท่านมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง แพ้แสงแดดมากผิดปกติ มีขี้ตามากผิดปกติ หรือ ปวดตามากผิดปกติ ควรเข้ามาพบจักษุแพทย์ก่อนวันนัด หรือโทรปรึกษาแผนกจักษุเบื้องต้นที่เบอร์ 052089880
ด้วยความปรารถนาดีจาก
แผนกจักษุ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
โทร. 052-089880 หรือ Call Center 1719