ใครคือ “คนโปรด” ของเจ้าไวรัสโควิด-19 - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

“สายกิน..เสี่ยงกว่า”

หากสังเกตจากสถานการณ์การติดเชื้อและแนวโน้มของการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน จะเห็นว่าส่วนใหญ่เจ้าเชื้อไวรัสนี้จะชื่นชอบกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วนและมีโรคประจำตัวอยู่เป็นพิเศษ ก็เพราะคนกลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลงกว่าคนทั่วไป เซลล์ที่คอยปกป้องร่างกายอย่างเม็ดเลือดขาวมีปริมาณลดลง เมื่อได้รับเจ้าเชื้อโควิด-19 จึงสามารถกระจายตัวได้รวดเร็ว ดังนั้น สายกินที่มีภาวะโรคอ้วนจึงมีแนวโน้มในการติดโรค ทั้งยังมีโอกาสที่โรคจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น จนอาจเกิดโรคแทรกซ้อน จนทำให้มีแนวโน้มการเสียชีวิตมากกว่า

 

ทำไมอ้วนแล้วภูมิคุ้มกันถึงอ่อนแอลง ?

จากคำอธิบายของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของเราอ่อนแอลงจากภาวะโรคอ้วนนั้น มีหลายสาเหตุ

  1. เกิดจากการอักเสบจากเซลล์ไขมันที่มากเกินไป

การมีเซลล์ไขมันมากๆ ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบและก่อสารอักเสบ เช่น TNF, IL ซึ่งส่งผลให้เราเกิดความเครียดมากกขึ้นโดยไม่รู้ตัว (Physical Stress) เมื่อเรามีความเครียดเรื้อรังจะส่งผลต่อพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอลง ทำให้เสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นนั่นเอง

 

  1. เกิดจากพื้นที่ในปอดถูกเบียดให้น้อยลง จากปริมาณไขมันในทรวงอกที่มากขึ้น

การมีไขมันในร่างกายปริมาณมาก จะดันกระบังลมในปอดให้ยกสูงขึ้นจนไปเบียดพื้นที่ในปอด ทำให้พื้นที่ภายในปอดน้อยลง และด้วยน้ำหนักไขมันในทรวงอกที่มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อทรวงอกต้องออกแรงในการขยายตัวมากขึ้นเพื่อยกประบังลม ทำให้ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง จนทำให้ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง และมีผลกระทบมากที่สุดเวลานอนหงาย

 

  1. เกิดจากเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ ที่รับเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น

จากผลงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า คนที่มีภาวะโรคอ้วน มีแนวโน้มที่เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจจะติดเชื้อโควิด-19 ง่ายกว่าคนทั่วไป

 

อ่านมาถึงตรงนี้ .สายกิน” หลายท่านที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน คงสงสัย ว่าเราถือว่าเข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนอื่นหรือเปล่านะ?

 

วิธีที่ง่ายที่สุด คงหนีไม่พ้นการคำนวณค่า BMI หรือ Body mass index คือการเอา น้ำหนัก (กก.) / ส่วนสูง (ม.)²  หากผลลัพธ์มากกว่า 25 แสดงว่าคุณเข้าข่ายมีภาวะโรคอ้วน แต่หากใครอยากตรวจลงลึกแบบละเอียด ก็สามารถตรวจได้โดยการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายด้วยเครื่อง Inbody เพื่อวิเคราะห์ร่างกายโดยละเอียด ซึ่งการแปรผลในผู้หญิงหากเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายมากกว่า 28% และในผู้ชายหากมากกว่า 20% ก็แสดงว่ามีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน

 

นอกจากนี้ อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็น “คนโปรด” ของไวรัสโควิด-19 ก็คือ กลุ่มโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน  และโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน  เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

 

การป้องกันตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่หลายคนมักหลีกเลี่ยงการออกไปสังสรรค์ข้างนอก รวมถึงต้อง Work From Home มากขึ้น โอกาสที่จะมีพฤติกรรมแบบนั่งๆ นอนๆ หรือSedentary Lifestyle ก็มีมากขึ้น ทำให้ยิ่งเสี่ยงเกิดภาวะโรคอ้วนมากขึ้น

 

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้หันมาใส่ใจและดูแลตัวเองมากขึ้น ใครที่ยังไม่มีภาวะโรคอ้วน ก็ควรรักษาวินัยที่ดีนั้นไว้ และหมั่นตรวจสุขภาพ เพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ ส่วนใครที่รู้ตัวว่ามีภาวะโรคอ้วนแล้ว ก็ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดไขมันส่วนเกิน รับประทานแต่พออิ่ม ทานอาหารให้ครบหมู่ ไม่หวาน ไม่มัน พร้อมผักหลากสี เพื่อให้ได้สารอาหาร โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ครบถ้วน หรือเสริมสร้างวิตามินให้กับร่างกายตัวเองด้วยโปรแกรมดริปวิตามัน หรือ IV Drip (ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโปรแกรม IV Drip คลิก)

รวมทั้งการออกกำลังกายที่สร้างสมดุลให้กับกล้ามเนื้อและลดไขมันส่วนเกิน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียดให้กับร่างกายและจิตใจ

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

พญ. ธิดา วัฒนพันธ์พิทักษ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์

ศูนย์สุขภาพด้านดูแลป้องกันและฟื้นฟู | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่