ตอนเข้านอน เราหยุดหายใจหรือเปล่านะ? - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

obstructive-sleep-apnea           

เรารู้ตัวดีว่าเมื่อหายใจเข้า คนเราย่อมหายใจออก

            แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ในแต่ละคืนที่เข้าสู่นิทรารมณ์อันลุ่มลึก เราจะยังคงหายใจอยู่—อย่างสม่ำเสมอ?

            และถ้าไม่...อะไรจะเกิดขึ้นกับเราบ้างนะ? 

            คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติในขณะหลับของตนเอง บ่อยครั้งที่ผู้พบความผิดปกติเป็นคู่สมรสหรือคนใกล้ชิด ทำให้อาการ “ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ” เป็นภัยเงียบที่ก่ออันตราย หรืออาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้

อุบัติการณ์การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ประมาณ 25% ในผู้ชายและ 10 % ในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แต่อย่างไรก็ตาม สามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ และอุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งที่พบภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้บ่อยครั้งก็คือ ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ เช่น กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนหย่อน ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่ หรือขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าปกติ เป็นต้น

Snoring & Sleep

เราสามารถสังเกตอาการ “ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ” ได้เอง (หรือฝากกำชับคนใกล้ตัวให้ช่วยสังเกตอาการ) อาทิ

1.นอนกรน

2.เหงื่อออกตอนกลางคืน

3.นอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่ายมาก

4.สะดุ้งตื่นกลางดึก เพราะสำลักเหมือนขาดอากาศหายใจ

5.รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน

6.ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า

7.บุคลิกภาพหรือสมาธิเปลี่ยนไป หลงลืมบ่อย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ

8.ง่วงนอนหรือรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลียมากในเวลากลางวัน

9.เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

แค่หยุดหายใจ?

อันตรายด้วยหรือ จะเกิดอะไรขึ้นกับเราอีกบ้าง?

แน่นอนว่าการหยุดหายใจขณะนอนหลับส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้การเรียนและการทำงานขาดประสิทธิภาพ มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคอ้วนอีกด้วย

ตรวจพบง่ายๆ เพียงมานอนที่โรงพยาบาล 1 คืน

หากสังเกตพบอาการดังกล่าว ท่านสามารถพาคู่สมรส หรือผู้พบเห็นอาการเข้ามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคุณภาพการนอนหลับ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยเพียงเข้านอนในห้องนอนที่เป็นส่วนตัว ณ ศูนย์คุณภาพการนอนหลับ เป็นเวลาหนึ่งคืน ท่านจะได้รับการบันทึกข้อมูลการหายใจและการทำงานต่างๆ ของร่างกายขณะกำลังนอนหลับ ประมวลผลโดยเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับและรายงานผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยภาวะความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ (Polysomnogram, PS) และประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับให้กับท่านได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำ

การจัดกระเป๋าและเตรียมความพร้อม 

  • เตรียมชุดนอนตัวโปรด หมอน หมอนข้าง ผ้าห่ม หรือเครื่องนอนประจำตัวมาให้พร้อม
  • สระผมให้สะอาด งดใช้ครีมนวดผม และน้ำมันแต่งผมใดๆ ในวันที่มาทำการตรวจ
  • นำยาที่คุณจำเป็นต้องรับประทานมาตามปกติ ยกเว้นกรณีที่แพทย์ขอให้งดยาบางประเภท
  • หลีกเลี่ยงการงีบหลับช่วงกลางวันของวันที่นัดหมายเพื่อมาตรวจการนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน (กาแฟ ชา และโคล่า)

 

เมื่อพบว่าเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ จะเป็นผู้เลือกการรักษาให้เหมาะสมกับผลตรวจและลักษณะของคนไข้แต่ละราย ขึ้นกับลักษณะคลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ลักษณะการหายใจ รวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือดของผู้รับการตรวจ

1.การปรับพฤติกรรมเสี่ยงด้วยตนเอง

- การลดน้ำหนักตัว จากการศึกษาวิจัย พบว่า การลดน้ำหนักลงแม้เพียงแค่ 10 % ก็สามารถลดจำนวนครั้งของการหยุดหายใจในขณะนอนหลับลงได้บ้าง

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยานอนหลับก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่ายระหว่างนอนหลับ และยังทำให้การหยุดหายใจนานขึ้น

- พยายามนอนในท่าตะแคงจะช่วยลดความรุนแรงได้บ้างในบางราย

- ผู้ป่วยที่มีปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากปัญหาไซนัสหรือมีอาการคัดจมูก การใช้สเปรย์พ่นจมูกหรือยาลดอาการคัดจมูก จะสามารถช่วยให้การหายใจในขณะหลับสะดวกมากขึ้น

- หลีกเลี่ยงการอดนอน

2.การใช้เครื่องช่วยสร้างแรงดันบวกในทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure, CPAP) เป็นวิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยผู้ป่วยจะต้องใส่อุปกรณ์หน้ากาก ครอบจมูกหรือปาก แล้วเครื่องจะทำการปรับแรงดันให้สูงพอ ที่จะเป่าอากาศให้ไหลผ่านลงไป ป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงในขณะนอนหลับอย่างต่อเนื่อง

3.การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม/ช่องปาก (Mandibular advancement devices, MAD) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับไม่รุนแรง

4.การรักษาด้วยการผ่าตัด  แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นกับระดับความรุนแรงและอวัยวะที่ทำให้เกิดการอุดกั้นขณะนอนหลับ

เมื่อรับการรักษาในกระบวนการต่างๆ แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่สมดุลย์ในลำดับต่อไป

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก