แค่เลือกทาน… เลี่ยงโรคไขมันในเลือดสูงได้ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

การทานอาหารจุกจิกและตามใจปาก รวมถึงพฤติกรรมการทานอาหารระหว่างวันของใครหลาย ๆ คน นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งขนม ของทานเล่น อาหารทอดที่ใครเห็นมักจะห้ามใจไม่ไหว ไปจนถึงอาหารปิ้งย่างติดมันของโปรดของทุกเพศทุกวัย สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายของคุณโดยไม่รู้ตัว เพราะโรคต่าง ๆ จะตามมาได้หากไม่มีการยับยั้งชั่งใจ และอาจเสี่ยงโรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีความไม่สมดุลของระดับไขมันในกระแสเลือด อาจเป็นระดับโคเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เป็นความผิดปกติที่อาจเกิดกับผู้ใดก็ได้ไม่จำกัด อายุ เพศ อ้วน หรือผอม วิเคราะห์องค์ประกอบร่างกายเบื้องต้น

 

ไขมันในเลือดชนิดที่สำคัญ

  1. โคเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด

1.1  โคเลสเตอรอลชนิดอันตราย (แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล / LDL) เป็นไขมันชนิดไม่ดีที่พบในไขมันสัตว์ หากไขมันชนิดนี้สูงจะไปสะสมที่เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ หรืออุดตัน การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก จะเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณคอเลสเตอรอล และปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

1.2  โคเลสเตอรอลชนิดดี (เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล / HDL) เป็นชนิดที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่เหลือไปทำลายที่ตับ ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลชนิดนี้สูงจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้

  1. ไตรกลีเซอร์ไรด์ เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง หรือได้รับจากอาหาร หรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์

 

อะไรบ้าง ที่เป็นสาเหตุของภาวะไขมันสูง

  • ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
  • ทานอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่ให้พลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย
  • มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาบางชนิด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเบาหวาน โรคไต ใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • การดื่มสุราในปริมาณมากเป็นประจำ ทำให้ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง
  • ขาดการออกกำลังกาย

 

ทำไมภาวะไขมันในเลือดสูง ถึงอันตราย?

โรคไขมันในเลือดสูง มักเกิดขึ้นจากการทานอาหารที่มีไขมันสูง เกินปริมาณความต้องการของร่างกาย อาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว และไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบและยังคงมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเช่นเดิม จนกระทั่งหลอดเลือดแดงแข็ง ตีบ อุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาตีบตัน และระดับไขมันไตรกลีเซอร์ร์ที่สูงมากอาจทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันด้วย

เลือกรับประทานอาหาร ลดภาวะเสี่ยงของโรคไขมันในเลือดได้

1.ควบคุมอาหาร

อาหารที่ควรรับประทาน

  • นมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย
  • เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยแยกเอาไขมันและหนังออกให้หมด ถั่วเมล็ดแห้ง
  • ข้าวที่ไม่ขัดสีมาก
  • ผักต่าง ๆ
  • ผลไม้ไม่หวานจัด
  • ใช้ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว ประกอบอาหาร
  • อาหารประเภทต้ม ต้มยำ แกงส้ม ยำ นึ่ง อบ ย่าง (ไม่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ)
  • ไขมันจากปลาทะเล สามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ได้
  • อาหารที่มีไฟเบอร์ (เส้นใยอาหาร) สูง จะช่วยลดระดับและทำให้การดูดซึมโคเลสเตอรอลลดลง

อาหารที่ควรเลี่ยง

  • อาหารที่มีไขมันมาก เช่น อาหารทอด, อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ เช่น ไก่ทอด กล้วยทอด แกงกะทิ กุนเชียง เป็นต้น
  • เนื้อสัตว์ติดมัน หนังเป็ด/ไก่ ไข่แดง แฮม เบคอน หมูยอ
  • อาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาหมึก หอยนางรม
  • ขนมหวานที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล และกะทิหรือมะพร้าว เช่น กล้วยบวชชี ขนมหม้อแกง ข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ ข้าวโพดคลุกมะพร้าวน้ำตาล
  • ขนมที่มีไขมันแฝงอยู่ เช่น ขนมขบเคี้ยว โดนัท เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม
  • ไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น เนย มันหมู มันวัว มันไก่

2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ครั้งละ 30-45 นาที เป็นการเพิ่มการเผาผลาญอาหาร ช่วยลดโคเลสเตอรอลและเพิ่มระดับไขมันดี “HDL” ในเลือด ซึ่งเป็นตัวป้องกันการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว

3.งดสูบบุหรี่ บุหรี่ทำให้ระดับไขมันดี “HDL” ในเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

4.ลดน้ำหนัก ในบางท่านการรับประทานไขมันสูงเกินความต้องการ อาจส่งผลให้น้ำหนักมากขึ้น ร่างกายมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจพิจารณาทำกิจกรรมลดน้ำหนัก

5.ปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยบางรายมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสี่ยง แต่อาจไม่แสดงอาการหรือลักษณะรูปร่างภายนอกไม่เปลี่ยนแปลงไป ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อติดตามดูระดับไขมัน และอาจต้องใช้ยาช่วยลดระดับไขมัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ชี้แนะและติดตามผลการรักษาต่อไป

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

แพทย์หญิงพร้อมพรรณ พฤกษากร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ

แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่