โรคสมองเสื่อม…แค่เข้าใจก็สุขใจ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นหนึ่งในความผิดปกติของสมอง ที่หลายท่านอาจทราบดีว่าเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ กล่าวคือภาวะสมองจะทำงานได้แย่ลงแปรผันกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับมีโรคต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น อาการหลงลืม มีปัญหาทางการสื่อสาร การเรียนรู้ที่แย่ลง การคิดคำนวณ ตลอดจนมีพฤติกรรมที่แปลกแตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น เป็นต้น โดยอาการดังกล่าวเกิดจากเซลล์สมองของผู้ป่วย โรคสมองเสื่อม จะเริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากสมองมีการหดตัวลงผิดปกตินั่นเอง

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม

สาเหตุที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งที่มีแนวทางการรักษาให้หายขาดได้และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยที่แพทย์จะทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น (สาเหตุโดยธรรมชาติ)
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดสมอง (ผู้ป่วยที่มีประวัติอัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต)
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
  • การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ และเสพสารเสพติด
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคเนื้องอกในสมอง
  • การติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง

 

อาการของโรคสมองเสื่อมเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมแน่นอนว่าจะมีภาวะความจำที่แย่กว่าปกติ แต่ทราบหรือไม่ว่าภาวะดังกล่าวยังส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน โดยที่อาการต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนไปจนถึงปี ขึ้นอยู่กับการตรวจรักษาและการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยร่วมด้วย ซึ่งอาการของโรคสมองเสื่อมที่เห็นได้ชัดเจนมีดังต่อไปนี้

  • อาการสับสน หลงลืม แม้เหตุการณ์นั้นผ่านมาเพียงไม่นาน
  • ลืมสิ่งของ หาของไม่เจอบ่อย ๆ
  • สับสนทิศทางและสถานที่ที่คุ้นเคย
  • บุคลิก พฤติกรรม และอารมณ์เปลี่ยน
  • การสื่อสารที่ใช้คำผิดบ่อย หรือ นึกคำพูดไม่ออก
  • ทักษะและความสามารถที่เคยทำได้ดีแย่ลง
  • การตัดสินใจและสติปัญญาลดลง

 

ข้อควรรู้สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

  • ผู้ดูแลควรให้การดูแลและให้ความรักอย่างเข้าใจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล หากผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมย่อมตระหนักได้ว่า การให้ความรักคือการดูแลด้านจิตใจที่ส่งผลดีต่อการรักษาอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีต่อการรักษาต่อไป
  • สิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมควรทำอย่างยิ่ง คือการทำความเข้าใจต่อภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้น เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งอาการของโรค การรักษา และการดูแลที่เหมาะสม โดยจะต้องยอมรับให้ได้ว่าอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะภาวะของโรค เนื่องจากหลาย ๆ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันได้

 

  • ตระหนักถึงความสำคัญด้านจิตใจและสุขภาพร่างกายของตนเองด้วย เพราะผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา จนอาจก่อให้เกิดความเครียดรวมถึงความเหนื่อยล้าจากการดูแลทั้งด้านอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย ดังนั้นควรรู้ขีดจำกัดของตนเองว่าควรพักผ่อนช่วงเวลาใด ควรปรับอารมณ์ของตนเองอย่างไร หากมีความเครียดหรือรู้สึกแย่จากการดูแลผู้ป่วย ควรพักและให้ผู้อื่นที่ไว้ใจได้มาช่วยดูแลต่อ จากนั้นเมื่อสภาพร่างกายจิตใจพร้อม จึงกลับมาทำหน้าที่ดูแลอีกครั้ง ทั้งนี้แนะนำว่าหากมีความเครียดมากจนเกินไปควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง

 

พญ.ขนิษฐา สุวรรณศรีนนท์

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่