หาย โควิด-19 แต่ไม่จบ อาจพบ “ภาวะมิสเอ” ตามมาได้ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

หายโควิด-19 แต่ไม่จบ!

อาจพบ “ ภาวะมิสเอ ” ตามมาได้!

 

“ รักษาโควิด-19 จนหายแล้ว ใช่ว่าจะจบ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อหรือหายจากโควิด-19 แล้ว อาจพบ “ ภาวะมิสเอ  (MIS-A) ” หรือ “ (Long COVID)” ในผู้ใหญ่ตามมาได้ โดย ภาวะมิสเอ (MIS-A) เป็นกลุ่มอาการอักเสบและภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายถูกทำลายได้ และหากผู้ป่วยด้วย ภาวะมิสเอ ไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นและอันตรายถึงชีวิต ”

ภาวะมิสเอ อาการลองโควิด - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ 

หลังได้รับเชื้อโควิด-19 หรือ หลังหายป่วยแล้ว 2-4 สัปดาห์ อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ต้องเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองให้ดี

 

อาการของภาวะมิสเอ (MIS-A) ที่ต้องเฝ้าระวัง

 

อาการ ภาวะมิสเอ MIS-A - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

 

  • มีไข้มากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส เป็นเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือภายใน 3วันแรกของการนอนโรงพยาบาล
  • มีผื่นตามตัว หรือ เยื่อบุตาขาวอักเสบแต่ไม่มีหนอง
  • มีอาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ชัก ซึมโดยไม่เคยเป็นโรคทางสมองเดิมมาก่อน หรืออ่อนแรง และชาปลายมือปลายเท้า
  • มีความดันโลหิตต่ำ หรือภาวะช็อค โดยที่ไม่ได้เกิดจากฤทธิ์ของยาหรือการทำหัตถการต่างๆทางการแพทย์ เช่น ยานอนหลับ หรือ การบำบัดทดแทนไต
  • ปวดท้อง อาเจียน หรือ ท้องเสีย
  • มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย
  • มีจุดเลือดออกตามตัว

 

หากพบอาการผิดปกติ หรือ สัญญาณเตือน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยวิธีการรักษาภาวะมิสเอ (MIS-A) ในปัจจุบันจะอ้างอิงจากการรักษาภาวะมิสซี (MIS-C) ในผู้ป่วยเด็ก เช่น การประคับประคองการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้ยาสเตียรอยด์ (steroid), การให้ภูมิเข้าทางเส้นเลือดดำ (IVIG) และยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสารชักนำการอักเสบ (IL-6 receptor antagonist) รวมถึงการให้ยารักษาตามอาการ

 

รู้จักภาวะมิสเอ (MIS-A) กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แพทย์หญิง ชัญญา ชมเชย อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะมิสเอ (MIS-A) ไว้ว่า เป็นกลุ่มอาการอักเสบในร่างกายที่เกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ โดยเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีเป็นต้นไป โดยเชื่อกันว่ากลุ่มอาการดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายภายหลังการติดเชื้อโควิด โดยร่างกายจะสร้างสารกระตุ้นการอักเสบขึ้นมาส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายถูกทำลาย

 

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ยังได้ให้คำนิยามของภาวะมิสเอ (MIS-A) หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Adults ไว้อีกว่า เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 21 ปีที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 24 ชั่วโมง หรือเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่างที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต โดยผู้ป่วยดังกล่าวต้องมีอาการและผลการตรวจวินิจฉัย และจะต้องไม่เกิดจากการกำเริบของโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิม หรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น มีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดอยู่ เป็นต้น

 

การตรวจวินิจฉัยภาวะมิสเอ (MIS-A)

ในการวินิจฉัยภาวะมิสเอ (MIS-A) แพทย์จะประเมินจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการดังนี้

  1. มีค่าปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกายที่สูงกว่าปกติ
  2. มีผลการตรวจเชื้อโควิดเป็นบวกโดยวิธีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR, การทดสอบทางเซรุ่ม (serology) หรือ การตรวจแบบ Antigen test

 

คำแนะนำจากแพทย์

ทั้งนี้แพทย์หญิงชัญญาได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันการเกิดภาวะมิสเอ (MIS-A) ที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพและป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยด้วยโควิด-19 แต่ต้น แต่ถ้าหากได้รับเชื้อโควิด-19 แล้ว ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเข้มงวดและเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติให้ดี

  

วิธีการป้องกันการเกิดภาวะมิสเอ (MIS-A) - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

“ แม้ว่าภาวะมิสเอ (MIS-A) จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ได้เกิดกับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ทุกราย และสถิติของการเกิดจะน้อยกว่า ภาวะมิสซี (MIS-C) ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ควรมองข้าม ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิด-19 หรือ หายป่วยแล้ว ควรเฝ้าสังเกตอาการแทรกซ้อนของตัวเองให้ดี และที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 และหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อย่อมเป็นวิธีการป้องกันจากภาวะมิสเอ (MIS-A) ที่ดีที่สุด ”

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

พญ. ชัญญา ชมเชย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์  อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ

ศูนย์รักษาลองโควิด | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Patel P et al. Clinical Characteristics of Multisystem Inflammatory Syndrome in Adults: A Systematic Review.JAMA Netw Open.2021;4(9)
  2. Belay ED et al. Multisystem Inflammatory Syndrome in Adults after SARS-CoV-2 infectionand COVID-19 vaccination.Clin Infect Dis. 2021 Nov 28
  3. Ahmad F et al. Multisystem inflammatory syndrome in adults:A rare sequela of SARS-CoV-2 infection. Int J Infect Dis. 2021 Jul;108:209-211.