“ลื่นล้ม”..ไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับผู้สูงอายุ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

นพ. ทองเอก วัฒนโรจนาพร

ในฤดูฝนอย่างนี้ เรายิ่งควรเพิ่มความระมัดระวังในทุกย่างก้าว เพราะการลื่นล้มจากก้าวพลาดเพียงก้าวเดียวบนพื้นกระเบื้องไร้ดอกยาง บนทางเดินที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำ หรือลื่นล้มบนโคลนเหลวๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายที่ไม่ใช่เพียงอาการฟกช้ำ ปวดเคล็ด แต่อาจก่ออันตรายอย่างคาดไม่ถึงโดยเฉพาะยิ่งเมื่อเกิดขึ้นกับคุณตาคุณยาย ของเรา!

 

 

  • จากการศึกษาพบว่า 1 ปีแรกหลังจากสะโพกหัก ผู้สูงอายุจะมีอัตราการเสียชีวิตถึง 20% พิการ 30%  และกลับมาเดินไม่ได้ถึง 40%
  • 95% ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
  • โดยทั่วไปการผ่าตัดภายใน 72 ชม. จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวกลับมาเดินได้มากกว่าการตัดสินใจผ่าตัดล่าช้า
  • ศูนย์แห่งความเป็นเลิศกระดูกและข้อ พร้อมดูแลให้ผู้ป่วยที่มีความพร้อมเข้ารับการผ่าตัดได้ภายใน 24ชม. เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งลดพยาธิสภาพที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและออกจากโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว
  • ความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มได้ถึง 2-3 เท่า หากการรักษาด้วยวิธีการอื่นนอกจากการผ่าตัด

 

ทำไม “คุณตาคุณยาย” จึงมีความเสี่ยงกว่าใครๆ ในบ้าน

ภาวะกระดูกพรุนทำให้ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดลงตามอายุที่มากขึ้น อาจก่อให้เกิดกระดูกแตกหักได้ง่ายแม้อุบัติเหตไม่รุนแรง เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ ตกเก้าอี้ ตกเตียง ลื่นล้มบนพื้นเปียก ฯลฯ นอกจากนี้ ภาวะความเสื่อมของร่างกายที่มีผลทำให้การเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว อาจก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง โรคทางสายตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น

 

การดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุกรณี “ล้มแล้วสะโพกหัก”

แพทย์อาจวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัด โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวด้วยตนเองให้ได้เร็วที่สุด ลดภาวะแทรกซ้อนจาการนอนติดเตียง เช่น แผลกดทับ, ปอดติดเชื้อ, ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มอัตราการเสียชีวิตลงได้ ในทางกลับกัน การรักษาด้วยวิธีการอื่นใดนอกจากการผ่าตัด อาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 2-3 เท่า

การผ่าตัดแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะการหักของกระดูก แบ่งเป็นหลักๆ คือ

  • ผ่าตัดโดยวิธีใช้เหล็กยึดตรึงกระดูก (Internal fixation)
  • เปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Joint replacement)

การผ่าตัดที่รวดเร็ว ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากกระดูกหัก จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวกลับมาเดินได้หลังผ่าตัดได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดหลังจาก 72 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยเลือกใช้บริการโรงพยาบาลชั้นนำที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูง มีการทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ จะสามารถร่นระยะเวลาในการเข้ารับการผ่าตัดให้รวดเร็วขึ้นภายใน 36 ชั่วโมง (หรือภายใน 24 ชั่วโมงในกรณีผู้ป่วยมีความพร้อมในการผ่าตัด) ทำให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ลดระยะเวลาเจ็บปวด ลดพยาธิสภาพที่อาจเกิดขึ้นก่อนผ่าตัด ใช้ระยะเวลาในโรงพยาบาลน้อยลง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงอีกด้วย

 

คุณภาพชีวิตที่ดีหลังผ่าตัดสะโพก

หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวช่วยเหลือตัวเองได้โดยเร็ว รวมถึงกลับมาเดินได้ นอกจากนี้เพื่อรักษาภาวะโรคกระดูกพรุน อาจจะมีการวินิจฉัยให้แคลเซียม วิตามินดี และยารักษาโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะ

ลูกหลานควรจัดสภาวะรอบตัวให้ปลอดภัยจากภาวะหกล้มซ้ำ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะ ให้มีแสงสว่างเพียงพอ แก้ไขบริเวณที่มีโอกาสลื่นสะดุดด้วยการปูกระเบื้องพื้นที่มีความสากเพียงพอ ลดปริมาณน้ำขังบนผิวทางเดิน จัดระดับการระบายน้ำขังในห้องน้ำ ติดราวจับที่เตียงหรือในห้องน้ำ  ติดสติ๊กเกอร์เรืองแสงในที่มืดและขั้นบันได ฯลฯ ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงปัจจัยภายในของผู้สูงอายุประกอบด้วย เช่น การใช้เครื่องพยุงเดิน  ยาที่ทำให้ง่วง โรคสมองหรือโรคทางสายตา เป็นต้น

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายแพทย์ทองเอก วัฒนโรจนาพร

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

ศูนย์แห่งความเป็นเลิศกระดูกและข้อ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่