ผลกระทบของมลภาวะต่อโรคหัวใจ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

มลภาวะทางอากาศนั้นมีส่วนประกอบทั้งที่เป็นก๊าซและที่เป็นอนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งมีการศึกษายืนยันว่าอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 นั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมมากที่สุด

จากผลการศึกษาของ Global Burden of disease ในปี ค.ศ. 2015 ประเมินว่าการได้รับ PM 2.5 จากสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกถึง 4.2 ล้านคนต่อปี และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของประชากรในระบบ Medicare ของสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆนี้ มีข้อสรุปว่าการเพิ่ม PM 2.5 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราการเสียชีวิต สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease)

รายงานจากสหรัฐอเมริกายังพบว่า PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome, ACS) ได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease, CAD) อยู่แล้ว และยังมีผลต่อกลุ่มนี้อีกด้วย นอกจากนี้ PM 2.5 ยังมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้สูบบุหรี่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลว (Heart Failure, HF)

เพื่อลดผลกระทบจากมลภาวะ PM 2.5 ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควร ใส่หน้ากากกันมลพิษ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้าน และปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้ถูกอนามัย รวมทั้งปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ

 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์
เอกสารอ้างอิง : Journal of American College of Cardiology 2018;72 : 2054-70.